Art History

Taxonomy

Code

Scope note(s)

Source note(s)

Display note(s)

Hierarchical terms

Art History

Equivalent terms

Art History

Associated terms

Art History

10 Archival description results for Art History

10 results directly related Exclude narrower terms

อาณาจักรขอม

บทความนี้มาจากหนังสือเรื่องประเทศที่ได้รับอิทธิพลอินเดียในแหลมอินโดจีน และหมู่เกาะอินโดนีเซีย ของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เริ่มเกี่ยวกับอาณาจักรขอมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เป็นกษัตริย์พระองค์แรก พระองค์ได้เสด็จกลับมาจากชวา เพื่อมาครองราชย์ที่เมืองอินทรปุระ และย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองหริหราลัย ศิลปะขอมสมัยกุเลนในรัชกาลของพระองค์เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปะขอมสมัยก่อนสร้างเมืองพระนคร และศิลปะสมัยเมืองพระนคร ได้รับอิทธิพลทั้งจากศิลปะจามและศิลปะชวา ลำดับกษัตริย์ขอมที่ครองราชย์ต่อมา คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 3 พระเจ้าอินทรวรมัน พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 พระเจ้าอีศานวรมันที่ 2 พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 พระเจ้าหรรษวรมันที่ 2 พระเจ้าราเชนทรวรมัน พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ซึ่งรัชกาลของพระเจ้าอินทรวรมันจนถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 มีระยะเวลากว่า 100 ปี และอาจนับได้ว่าเป็นระยะที่วัฒนธรรมขอมเจริญสูงสุดอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเป็นรัชกาลของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 1 พระเจ้าชัยวีรวรมัน พระเจ้าสุริยวรมันที 1 พระเจ้าอุทัยทิตย วรมันที่ 2 พระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 พระเจ้าธรณีนทรวรมันที่ 1 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 พระเจ้าธรณีนทรวรมันที่ 2 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 พระเจ้าศรีนทรวรมัน และพระเจ้าชัยวรมาธิปรเมศวร ซึ่งเป็นพระราชาองค์สุดท้ายที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกของขอมที่ปราสาทนครวัด.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

วิวัฒนาการแห่งจิตรกรรมฝาผนังของไทย

จิตรกรรมฝาผนังของไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ศิลปะแบบสุโขทัย เช่น จิตรกรรมที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว จังหวัดสุโขทัย แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการจิตรกรรมของไทยซึ่งกำลังก่อรูปแบบเป็นแบบของตนเอง เฉพาะพระพุทธรูปมีลักษณะเป็นไทย ในขณะที่รูปบุคคลอื่น ๆ ยังคงมีลักษณะเป็นแบบอินเดียหรือเขมรอยู่
ศิลปะแบบอยุธยา เช่น ผนังในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะ มีจิตรกรรมปูนเปียกเป็นรูปเทวดามีลักษณะเช่นเดียวกับลายสลักที่วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลลายเส้นจากเกาะลังกาได้มาแพร่หลายถึงกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน ภาพเขียนที่ฝาผนังในองค์พระปรางค์วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบสุโขทัยเป็นส่วนมาก รวมทั้งมีอิทธิพลศิลปะแบบอู่ทองและอินเดียอยู่บ้าง
ศิลปะแบบธนบุรี มีสมุดภาพเรื่องไตรภูมิพระร่วง ที่เขียนขึ้นใน พ.ศ. 2335 ภายหลังสมุดภาพเรื่องไตรภูมิสมัยอยุธยา ในสมุดภาพเรื่องไตรภูมิสมัยธนบุรี ภาพสถาปัตยกรรมและภาพบุคคลได้เขียนไปตรามกฎเกณฑ์
ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ ในสมัยนี้มีการสร้างวัดกันขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีหลายวัดประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนัง ช่างสมัยอยุธยาได้เข้ามาทำงาน และได้เกิดมีสกุลช่างเขียนที่สำคัญ สกุลช่างเขียนสมัยรัตนโกสินทร์ในภาคกลางเขียนภาพเรื่องศาสนาหรือเรื่องนิยายต่าง ๆ แบ่งออกได้ 5 แบบ 1. แบบคลาสสิคเกี่ยวกับเรื่องราวเทวดาและเรื่องนิยายต่าง ๆ 2. แบบคลาสสิคเกี่ยวกับตัวละคอนในเรื่องรามเกียรติ์ 3. นักดนตรี นางรำ ข้าราชสำนัก และบรรดาชนชั้นสูง 4. ประชาชนธรรมดา 5. ภาพนรก

ศิลป์ พีระศรี

รายงานการสำรวจทางโบราณคดีในประเทศไทย วันที่ 25 กรกฎาคม - 28 พฤศจิกายน 2507

ศาสตราจารย์ ฌอง บวสเซอลีเย่ ได้รับเชิญจากกรมศิลปากรมาสำรวจในประเทศไทยเป็นเวลา 4 เดือน เพื่อศึกษาปัญหาทางด้านโบราณคดีอันเกิดจากการขุดค้น และค้นคว้าวิชาโบราณคดีไทย โดยจากการสำรวจ ศาสตราจารย์ ฌอง บวสเซอลีเย่ สรุปผลที่ได้เป็นประเด็นดังนี้ คือ 1) โบราณคดีแห่งอาณาจักรสุโขทัย 2) โบราณคดีแห่งอาณาจักรอยุธยา 3) โบราณคดีแห่งอาณาจักรล้านนา 4) สถาปัตยกรรมและประติมากรรมขอมในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางของประเทศไทย 5) อาณาจักรทวารวดี 6) การศึกษาเกี่ยวกับพระธาตุพนม โดยในแต่ละหัวข้อ มีการกล่าวถึงหลักฐานขุดค้นทางโบราณคดี และหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในตอนท้ายของบทความ ศาสตราจารย์ ฌอง บวสเซอลีเย่ ตั้งข้อสังเกตหรือข้อแนะนำบางประการสำหรับการค้นคว้าตามโบราณสถานและวิชาการจัดพิพิธภัณฑ์ในอนาคตด้วย.

Boisselier, Jean

ประติมากรรมขอม [ตอนที่ 14]

บทความกล่าวถึงวัตถุที่หล่อด้วยโลหะในศิลปะขอม โดยเฉพาะที่หล่อด้วยสัมฤทธิ์ทั้งสมัยก่อนเมืองพระนครและสมัยเมืองพระนคร ทั้งประติมากรรมขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ทั้งประติมากรรมในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ในส่วนท้ายของบทความกล่าวถึงวัตถุสัมฤทธิ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม เช่นสังข์ วัชระ ฯลฯ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงฐานและแม่พิมพ์.

Boisselier, Jean

ประติมากรรมขอม [ตอนที่ 12]

บทความกล่าวถึงลักษณะรูปภาพ (Iconography) ในศิลปะขอม หรือปัจจุบันเรียกวิชานี้ว่าประติมานวิทยา โดยเน้นพุทธศาสนา ทั้งพระศรีศากยมุนี ประติมากรรมในพุทธศาสนามหายาน เช่น พระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรย พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นางปรัชญาหรือศักติ รวมถึงเทพในพุทธศาสนาองค์อื่น ๆ ในส่วนท้ายของบทความกล่าวถึงรูปสัตว์และลวดลายพันธุ์พฤกษาในศิลปะขอม ไม่ว่าจะเป็นโค ครุฑ ช้าง.

Boisselier, Jean

ประติมากรรมขอม [ตอนที่ 9]

บทความกล่าวถึงพระพุทธรูปในศิลปะขอมสมัยเมืองพระนคร ตั้งแต่ศิลปะแปรรูป บันทายศรี คลัง บาปวน นครวัดและบายน รวมถึงศิลปะระยะหลังอีก 2 ระยะ คือ หลังสมัยบายนและศิลปะหลังสมัยเมืองพระนคร โดยมีพัฒนาการทั้งในแง่ของประติมานวิทยาและรูปแบบศิลปกรรม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงมุทรา อิริยาบถ พัฒนาการของเกตุมาลา เครื่องทรง จีวร มีการยกตัวอย่างสำคัญ.

Boisselier, Jean

วิจารณ์แบบศิลปในประเทศไทย ของ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์

ผู้เขียนมีความเห็นตรงกันกับ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่เห็นว่า คำว่า สมัยทางประวัติศาสตร์ และแบบของศิลปะนั้น เป็นระยะเวลาต่างกัน ไม่ควรนำมาใช้ปะปนหรือใช้แทนกัน แต่ไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้ใช้คำว่าศิลปะมอญ แทนคำว่า ศิลปะทวาราวดี พร้อมทั้งยอมรับว่า คำว่า ศิลปะลพบุรี ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่เหมาะสมตามที่ ดร.พิริยะ กล่าว สำหรับศิลปะไทยที่เสนอให้แบ่งออกตามท้องถิ่น ผู้เขียนไม่เห็นด้วยเพราะคงจะมีมากมายหลายสกุลช่างจนเป็นการยุ่งยากแก่นักศึกษา รวมทั้งเรื่องที่เสนอให้นำศิลปะอู่ทองมารวมกับ ศิลปะอยุธยา และเรียกว่า ศิลปะอยุธยา ส่วนศิลปะรัตนโกสินทร์ที่ ดร.พิริยะ กล่าวว่า เกิดขึ้นในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 หรือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ลงมา และเสนอให้เรียกศิลปะก่อนหน้านั้นว่าศิลปะอยุธยา ผู้เขียนไม่เห็นด้วย สำหรับการศึกษาศิลปะศรีวิชัย หรือศิลปะทางภาคใต้ของประเทศไทย ผู้เขียนมีความเห็นคล้อยตามว่าควรจะแยกศึกษาจากกำเนิดที่มาต่าง ๆ กัน นอกจากนั้น ผู้เขียนยังวิจารณ์โบราณวัตถุที่นำมาจัดตั้งแสดงตามรูปในหนังสือ เฉพาะในส่วนที่มีความเห็นแตกต่างกับ ดร.พิริยะ เท่านั้น.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

พระศิวนาฏราชในศิลปลพบุรี

พระศิวนาฏราช หรือ พระอิศวรทรงฟ้อนรำ จัดเป็นประติมากรรมที่สำคัญที่สุดในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ภาพพระศิวนาฏราชในศิลปะขอมนั้นเป็นภาพสลักนูนต่ำทั้งสิ้น ไม่เคยค้นพบประติมากรรมลอยตัวรูปพระศิวนาฏราชเลย ภาพพระศิวนาฏราชในศิลปะลพบุรีเป็นภาพสลักนูนต่ำ 4 รูป คือ 1) ภาพสลักบนหน้าบันด้านในของปราสาทนารายณ์เจงเวง จังหวัดสกลนคร อายุอยู่ในราวระหว่าง พ.ศ. 1600-1650 เป็นพระศิวนาฏราชสวมมงกุฏมี 10 กร 2) ทับหลังของปราสาทองค์กลางที่ ปราสาทบ้านระแงง อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1650 ทับหลังมีลักษณะค่อนข้างใหญ่ ตรงกลางเป็นรูปพระศิวนาฏราช 10 กร 3) บนหน้าบันของมุขด้านใต้ของปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มีภาพสลักเป็นรูปพระศิวนาฏราชหลายกร คงสร้างขึ้นราวระหว่าง พ.ศ. 1650-1675 4) ทับหลังศิลา เดิมอยู่ที่ปรางค์กู่สวนแตง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นภาพพระศิวนาฏราช 2 กร อายุระหว่าง พ.ศ. 1700-1750 รูปพระศิวนาฏราชหรือพระอิศวรทรงฟ้อนรำของศิลปะลพบุรีในประเทศไทย ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะขอมราวระหว่าง พ.ศ. 1600-1750 อิทธิพลดั้งเดิมคงมาจากประเทศอินเดียภาคเหนือ แต่ในศิลปะลพบุรีอาจมีอิทธิพลของศิลปะอินเดียภาคใต้เข้ามาปะปนอยู่บ้าง จึงมีรูปยักษ์เข้ามาผสมอยู่.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

พระพุทธรูปนาคปรกศิลา ที่ค้นพบใหม่ในศิลปทวารวดี

พระพุทธรูปนาคปรกศิลา แต่เดิมอยู่ในบ้านเหมืองฝ้าย เขตอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ได้ถูกลักขโมย ภายหลังทางหน่วยศิลปากรที่ 6 ได้รับคืนและฝากไว้ที่วัดอุทัยมัคคาราม (วัดหินดาด) อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่แบบทวารวดีอย่างแท้จริงและยังคงรักษาอิทธิพลของศิลปอินเดียแบบอมราวดี อันเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธรูปนาคปรกไว้ได้มาก พระพุทธรูปสลักเป็นภาพนูนสูงเหนือแผ่นหลัง องค์พระสูง 1.05 เมตร รวมทั้งฐานข้างล่าง แต่ไม่รวมเดือยข้างใต้ หน้าตักกว้าง 67 เซนติเมตร เดือยใต้ฐานฐานสูง 60 เซนติเมตร

พระพุทธรูปนาคปรกที่บ้านเหมืองฝ้ายองค์นี้ถือเป็นองค์ที่เก่าแก่ที่สุดเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปนาคปรกศิลาสมัยทวารวดีอีก 3 องค์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้แก่ พระพุทธรูปนาคปรกจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี พระพุทธรูปนาคปรกศิลาสมัยทวารวดี จากจังหวัดปราจีนบุรี และพระพุทธรูปนาคปรกศิลาสมัยทวารวดี จากวัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในศิลปลพบุรี

ภาพสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในศิลปะลพบุรีในประเทศไทย 4 ภาพ ภาพที่ 1 ศิลาทับหลัง ประตูวิหารหลังข้างเหนือที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เป็นรูปพระนารายณ์บรรทมอยู่เหนือหลังพญาอนันตนาคราช พระองค์ค่อนข้างตั้งตรงขึ้น มีดอกบัวก้านเดียวผุดออกมาจากพระนาภี และมีพระพรหมผู้สร้างโลกประทับอยู่ข้างบน สลักขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1550-1600 หรือ พ.ศ. 1600-1650 ภาพที่ 2 ทับหลังศิลา เดิมอยู่ในเทวสถานพระนารายณ์ เมืองนครราชสีมา เป็นรูปพระนารายณ์ 4 กร บรรทมสินธุ์ตะแคงขวา ก้านบัวก้านเดียวผุดออกมาจากพระนาภี และมีพระพรหมผู้สร้างโลกประทับอยู่ข้างบน สลักขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1550-1600 หรือ 1600-1650 ภาพที่ 3 ศิลาทับหลังประตูมุขโถง ด้านตะวันออกตอนนอกที่ปราสาทหินพนมรุ้ง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เป็นรูปพระนารายณ์ 4 กร บรรทมตะแคงขวาอยู่เหนือหลังมังกร และมีพญานาคหลายเศียรแทรกอยู่ตรงกลาง มีก้านบัวหลายก้านผุดขึ้นจากหลังพระขนงพระนารายณ์ พระพรหมประทับอยู่เหนือบัวบานก้านกลาง คาดว่าสลักขึ้นหลังสมัยปราสาทนครวัดระหว่าง พ.ศ. 1675-1700 ภาพที่ 4 ทับหลัง ณ ปรางค์กู่สวนแตง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เป็นภาพพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวาอยู่เหนือหลังมังกร พญานาคที่แทรกอยู่ตรงกลางหายไป ก้านบัวแบ่งออกเป็นหลายก้านและมีพระพรหมประทับอยู่บนก้านกลาง สลักขึ้นในสมัยหลัง ระหว่าง พ.ศ. 1700-1750.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล