Exhibition

Taxonomy

Code

Scope note(s)

Source note(s)

Display note(s)

Hierarchical terms

Exhibition

Equivalent terms

Exhibition

Associated terms

Exhibition

18 Archival description results for Exhibition

Only results directly related

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะมัคคุเทศก์

บทบาทหนึ่งของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล หรือ ท่านอาจารย์ คือ มัคคุเทศก์ นอกจากได้เคยถวายการนำชมแด่พระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรีแล้ว ท่านอาจารย์ยังเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ถวายการนำชมแด่พระราชอาคันตุกะที่เป็นพระประมุข ประมุข และผู้นำของชาติต่างๆอยู่หลายครั้ง เช่น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร, สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 9 แห่งเดนมาร์กและไอซ์แลนด์, สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น และนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งสร้างความพอพระราชหฤทัยและความประทับใจให้แก่พระราชอาคันตุกะเป็นอย่างมาก โดยในครั้งที่ท่านอาจารย์ทรงนำชมถวายแด่สมเด็จพระราชินีอิงกริด ในสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 9 แห่งเดนมาร์คและไอซ์แลนด์นั้น วันสุดท้ายที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ โดยทรงมอบหมายให้ท่านอาจารย์เป็นผู้ถวายการนำชมเพียงท่านเดียว

นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ให้กับกิจกรรมทัศนศึกษา “โบราณคดีสัญจร” จัดโดยนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย กิจกรรมดังกล่าวมีขึ้นเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 โดยพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปทัศนศึกษาแหล่งโบราณคดีในจังหวัดอุดรธานี สกลนคร และนครพนม รายได้จากกิจกรรมนี้นำไปเป็นทุนการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษา และเป็นจุดเริ่มต้นของทุนการศึกษาโบราณคดีทัศนาจรด้วย ทั้งนี้กิจกรรมโบราณคดีสัญจรกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาและผู้เข้าร่วมโครงการหลายท่านที่จะดำเนินรอยตามท่านอาจารย์ในฐานะมัคคุเทศก์ด้วย เช่น คุณไพรัตน์ สูงกิจบูลย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท สวัสดีฮอลิเดย์ จำกัด ซึ่งคุณไพรัตน์และเพื่อน ๆ ผู้ร่วมก่อตั้งได้กราบทูลเชิญท่านอาจารย์เป็นองค์ประธานที่ปรึกษาของบริษัท

การเป็นมัคคุเทศก์ในหลากหลายโอกาส นอกเหนือจากภารกิจที่ทรงได้รับมอบหมายแล้ว ท่านอาจารย์ยังทรงเล็งเห็นความสำคัญของมัคคุเทศก์ที่จะทำให้ความรู้ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะแพร่หลายสู่บุคคลทั่วไป และยังทรงเห็นว่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรักประเทศชาติด้วย

ด้วยการให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่านอาจารย์ทรงมีความคิดล้ำสมัยในการสนับสนุนให้จัดกิจกรรม “แสงและเสียง” ในพื้นที่โบราณสถาน เพื่อให้ประชาชนสนใจเยี่ยมชมโบราณสถานและเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2515 ท่านอาจารย์ทรงทำจดหมายถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยเนื้อความในจดหมายระบุว่า

“...เรื่อง “แสงและเสียง” ที่จะจัดทำในประเทศไทยนี้ ผมเห็นว่าถ้าทำได้ ก็คงจะเป็นการดี เพราะเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ อาจก่อให้ประชาชนไทยมีความภาคภูมิใจและรักชาติยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการดึงดูนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศด้วย...การเลือกสถานที่ควรเลือกที่มีเรื่องราวตื่นเต้นพอสมควร เพื่อเร้าใจผู้ดูประกอบ เช่น...ถ้าป็นที่พระนครศรีอยุธยา ก็ต้องมีตอนเสียกรุง ถ้าเป็นที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ก็ต้องมีตอนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต...”

หลักฐานชิ้นนี้แสดงให้เห็นชัดว่าท่านอาจารย์ทรงให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวในฐานะเครื่องมือสร้างความรักชาติและพร้อมเปิดรับวิธีการใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งความคิดดังกล่าวถูกนำมาปฎิบัติจริงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 ที่วัดอรุณราชวราราม และขยายตัวต่อเนื่องจนกลายเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในการท่องเที่ยวโบราณสถานสืบมาจนถึงปัจจุบัน

(รศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

สังเขปหนังสือ คำบรรยายเรื่อง ศิลปในประเทศไทย (ศิลปะในประเทศไทย)

ศิลปะในประเทศไทย เป็นตำราสำคัญอีกเล่มหนึ่งสำหรับนักศึกษาและผู้สนใจศึกษาศิลปกรรมโบราณในดินแดนไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ขึ้นหลังจากที่ท่านไปแสดงปาฐกถาเรื่องศิลปะในประเทศไทยให้กับนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2506

ข้อมูลจากหนังสือดังกล่าวนั้น ท่านอาจารย์ทรงเรียบเรียงจากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บทความของศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และบทความของนักวิชาการต่างประเทศอีกหลายท่าน อีกทั้ง เนื้อหาบางส่วนมาจากข้อสังเกตทางวิชาการของท่านอาจารย์ด้วย ทั้งนี้ ท่านอาจารย์แบ่งเนื้อหาตามยุคสมัยงานศิลปกรรม โดยเริ่มต้นจากยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุครัตนโกสินทร์

หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ทั้งหมด 15 ครั้ง โดยในการพิมพ์ครั้งที่ 1 ใช้ชื่อว่า คำบรรยายเรื่อง ศิลปในประเทศไทย ต่อมา มีการเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น ศิลปะในประเทศไทย

(ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

สังเขปหนังสือ ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง

ในการจัดการเรียนการสอนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ความรู้พื้นฐานที่นักศึกษาจะต้องเรียนคือ ศิลปะอินเดีย ศิลปะลังกา และศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ขอม พม่า ชวา และจาม ดังนั้น หนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง จึงเป็นตำราเล่มแรกๆ ที่นักศึกษาในหลักสูตรจะต้องอ่าน

หนังสือเล่มนี้มีที่มาจากการแสดงปาฐกถาของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล แก่นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2506 ในเวลาต่อมา ท่านอาจารย์ทรงเรียบเรียงปาฐกถาดังกล่าวออกเป็นหนังสือ 2 เล่ม คือ ศิลปอินเดีย และ ประวัติย่อศิลปลังกา ชวา ขอม มีเนื้อหามาจากบทความของศาสตราจารย์ฟิลิปป์ สแตร์น และจากการเดินทางไปสำรวจแหล่งโบราณสถานด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงเรียบเรียงเสร็จแล้ว ทรงนำไปใช้เป็นตำราทั้งในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหามกุฏราชวิทยาลัย

เมื่อท่านอาจารย์มีชันษาครบ 72 ปี ในปี พ.ศ.2538 มีการจัดพิมพ์หนังสือโดยรวมเนื้อหาของทั้งสองเล่มเข้าด้วยกัน และทรงนิพนธ์เพิ่มขึ้นอีก 3 เรื่อง คือ ศิลปะจาม ศิลปะพม่า และศิลปะลาว เพื่อให้ครบประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง ปัจจุบันนี้ หนังสือเล่มดังกล่าวตีพิมพ์ทั้งหมด 7 ครั้ง

(ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

สังเขปหนังสือ เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย

เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย เป็นงานวิจัยได้รับทุนอุดหนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2507 โดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ศึกษากำหนดอายุเทวรูปสัมฤทธิ์ในศิลปะสุโขทัยโดยใช้วิวัฒนาการลวดลาย

งานวิจัยชิ้นนี้มีความน่าสนใจ เพราะถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่มีการนำวิธีการศึกษาที่เรียกว่า “วิวัฒนการแห่งลวดลาย” มาใช้เป็นครั้งแรกในการศึกษาศิลปะไทย ทั้งนี้ นักวิชาการชาวต่างประเทศเคยใช้วิธีการดังกล่าวในการศึกษาศิลปกรรมโบราณของอินเดีย ขอม และจาม มาก่อน ส่วนท่านอาจารย์ทรงศึกษาวิธีการนี้มาจากศาสตราจารย์ ฟิลิปป์ สแตร์น ในช่วงที่ท่านอาจารย์ยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส วิธีการศึกษาดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในแนวทางการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจนกระทั่งปัจจุบัน

ผลจากการศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ ของเทวรูปกลุ่มนี้ ทำให้สามารถกำหนดอายุประติมากรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับดินแดนภายนอกที่สะท้อนผ่านรูปแบบศิลปกรรมของเทวรูปกลุ่มนี้ด้วย

(ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

สังเขปหนังสือ ศิลปะสมัยลพบุรี

ศิลปะสมัยลพบุรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2547 ซึ่งห่างจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 นานถึง 37 ปี ระหว่างนั้นได้มีการพบหลักฐานใหม่จากการขุดแต่งโบราณสถานขอมในประเทศไทยที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง อีกทั้งยังมีผลงานศึกษาวิจัยของนักวิชาการรุ่นหลัง ซึ่งมีวิธีการและเครื่องมือในการศึกษาที่มีคุณภาพและทันสมัยมากกว่าในอดีต ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับศิลปะสมัยลพบุรีออกมาอีกไม่น้อย จึงทำให้คณะผู้ดูแลรับผิดชอบการจัดพิมพ์หนังสือ “ศิลปะลพบุรี” เห็นควรต้องแก้ไขข้อมูลบางส่วนให้ถูกต้อง รวมทั้งเพิ่มเติมข้อมูลหลักฐานที่มีการค้นพบใหม่ในช่วงเวลา 37 ปีที่ผ่านมาด้วย เพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ดังที่ได้ทรงปรารภไว้ในคำนำของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” ที่พิมพ์ครั้งแรกไว้ ดังนี้ วิชาโบราณคดีเป็นวิชาที่ไม่ยุติ เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ยังคงฝังจมอยู่ใต้ดิน จำต้องขุดค้นขึ้นมาพิสูจน์กัน เหตุนั้นบทความที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้ ต่อไปอาจผิดพลาดบ้างหรือผิดพลาดทั้งหมดก็ได้ เป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีหรือท่านที่สนใจในวิชาโบราณคดีจะต้องช่วยกันสอบค้นให้ได้ความจริงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในเวลาต่อไป

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ศิลปะสมัยลพบุรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2547 ยังเป็นประโยชน์ยิ่งต่อผู้ต้องการศึกษาหาความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับศิลปะสมัยลพบุรี เพราะนอกจากจะได้อ่านส่วนที่เป็นพระนิพนธ์ดั้งเดิม ซึ่งทางคณะผู้จัดทำยังคงรักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมไว้ทั้งหมดแล้ว ยังได้รับทราบข้อมูลและหลักฐานใหม่ ที่ได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดี รวมทั้งข้อคิดเห็นที่ต่างไปจากเนื้อความในหนังสือที่พิมพ์ครั้งแรก ซึ่งมีทั้งมาจากหนังสือที่ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ขึ้นเองหลังจากนั้น ทั้งมาจากผลงานวิจัยของนักวิชาการรุ่นหลัง สำหรับส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องก็จะเพิ่มเติมข้อความที่แก้ไขต่อท้ายส่วนนั้น ๆ โดยจะพิมพ์เป็นตัวเอนไว้ในวงเล็บ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเห็นได้ชัดเจนว่า ส่วนใดเป็นเนื้อความตามต้นฉบับเดิม ส่วนใดเป็นข้อความที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ นอกจากนั้นยังมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำคัญบางประการในรูปแบบเชิงอรรถอีกด้วย

เนื้อหาของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” แบ่งเป็น 4 หัวข้อ คือ สถาปัตยกรรม ประติมากรรมศิลาและสัมฤทธิ์ จิตรกรรม และเครื่องปูนปั้นและดินเผา โดยแยกอธิบายแบบอย่างศิลปะตามลำดับเวลา มีภาพประกอบขาวดำแทรกในเล่ม 118 ภาพ

(ศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน

สังเขปหนังสือ ศิลปะขอม

ศิลปะขอม เป็นหนังสือที่ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะขอมอย่างกว้าง ๆ การกล่าวเกริ่นถึง ประวัติศาสตร์อาณาจักรขอมจากจุดเริ่มต้นสู่ยุคเสื่อมโทรม การนับถือศาสนาของชนชาติขอม และปัญหาเกี่ยวกับตัวเมืองพระนคร ในบทที่ 1-3 เป็นการช่วยปูพื้นความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะขอมในบทต่อไป การวางเนื้อหาหลัก ที่เริ่มจากการกล่าวถึงพัฒนาการทางรูปแบบของสถาปัตยกรรมขอม ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 ในบทที่ 4 จากนั้นจึงบรรยายรายละเอียดของแบบแผนลวดลายส่วนประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรมขอม อันได้แก่ ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู หน้าบัน ประตูหลอก เสาติดกับผนัง ฐาน รวมทั้งภาพสลักเล่าเรื่องราว ประติมากรรมรูปสัตว์ และประติมากรรมรูปมนุษย์ ในบทที่ 5-11 โดยอธิบายแยกตามลำดับแบบอย่างของศิลปะขอม มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการทางรูปแบบของศิลปะขอมผ่านการศึกษาจากการสังเกตระเบียบแบบแผนและรายละเอียดของลวดลายที่แตกต่างกันของศิลปะขอมแต่ละแบบ

ภาคผนวกท้ายเล่มประกอบด้วยตารางแสดงรายการปราสาทขอมที่สำคัญโดยจัดแบ่งตามแบบศิลปะและตารางแสดงลำดับกษัตริย์ขอมในประเทศกัมพูชา รวมทั้งภาพเขียนลายเส้นแสดงประติมากรรมขอมแบบต่าง ๆ 34 ภาพ หนังสือมีภาพประกอบขาวดำในเล่ม 237 ภาพ

(ศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน

สังเขปหนังสือ ศิลปะอินเดีย

ศิลปะอินเดีย เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศิลปะอินเดียโดยสังเขปตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงหลัง พ.ศ. 1550 โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 สมัย คือ 1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์และแรกเริ่มประวัติศาสตร์ 2. ศิลปะสมัยต้นประวัติศาสตร์หรือศิลปะอินเดียสมัยโบราณ 3. ศิลปะอินเดียสมัยที่ 2 คือ ศิลปะคันธารราฐ มถุรา และอมราวดี 4. ศิลปะอินเดียสมัยที่ 3 คือ ศิลปะสมัยคุปตะ ศิลปะสมัยหลังคุปตะ และศิลปะสมัยปาละ - เสนะ ในแคว้นเบงกอล 5. ศิลปะอินเดียสมัยที่ 4 หลัง พ.ศ. 1550 เนื้อหาตอนต้นของแต่ละสมัยเป็นการให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น ๆ โดยสังเขป ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางรูปแบบ แนวคิด และเนื้อหา ในการสร้างงานศิลปะแห่งยุคสมัยนั้น ศิลปะแต่ละสมัยแยกอธิบายเนื้อหาตามสาขาของศิลปะ อันได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประณีตศิลปะและเทคนิคต่าง ๆ
ท้ายเล่มมีภาพประกอบขาวดำ 101 ภาพ

(ศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะนักวิชาการ

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงทำหน้าที่นักวิชาการในหลากหลายมิติ นอกจากจะทรงนิพนธ์และเรียบเรียงหนังสือและตำราทางประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออกไว้มากมายหลายเล่มแล้ว ยังทรงนิพนธ์และแปลบทความทางวิชาการจากภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยไว้อีกเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บทความทางวิชาการของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่พิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารต่าง ๆ โดยเฉพาะ วารสารศิลปากร กลับเป็นผลงานทางวิชาการที่สำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี โดยเฉพาะบทความปริทัศน์ (Review Article) ที่แสดงให้เห็นประเด็นโต้แย้งทางวิชาการ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ทั้งทางกว้างและทางลึกอย่างมีหลักการของนักวิชาการผู้รอบรู้ทั้งหลักทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ทั้งมีประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานจากการศึกษางานศิลปะ ณ สถานที่จริง

ผลงานทางวิชาการในอีกมิติหนึ่งที่สำคัญมากต่อการปกป้องโบราณวัตถุอันเป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมอันมีค่ายิ่งของชาติ นั่นคือ บทความที่ให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุของชาติที่ถูกโจรกรรมและลักลอบนำออกไปนอกประเทศไทย นำไปขายในตลาดมืด และตกไปอยู่ในความครอบครองของชาวต่างชาติ ดังเช่นกรณีของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่หายไปจากปราสาทพนมรุ้ง และไปปรากฏใน “The Art Institute of Chicago” เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา นอกจาก ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล จะทรงนิพนธ์เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังทรงมีหนังสือแจ้งไปยังอธิบดีกรมศิลปากร ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 และทรงแนะนำให้กรมศิลปากรติดต่อประสานเพื่อทวงคืนทับหลังกลับคืนมาด้วย หลังจากการเรียกร้องทวงคืนเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จึงได้กลับคืนมาสู่มาตุภูมิ หลังจากถูกโจรกรรมไปนานกว่า 30 ปี

การเดินทางไปสำรวจและให้ความรู้แก่นักศึกษาโบราณคดีตามแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ ก็นับเป็นอีกมิติหนึ่งที่สำคัญในฐานะนักวิชาการของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ดังเช่น การนำนักศึกษาคณะโบราณคดีและคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางไปสำรวจและบูรณะปราสาทหินเขาพระวิหารร่วมกับ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เมื่อปลายปี พ.ศ. 2502

ถึงแม้การทำงานในฐานะนักวิชาการในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านข้อมูลและหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดี หรือจากหลักฐานเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ แต่ท่านก็ยังทรงมุ่งมั่นและตั้งพระทัยในการทำหน้าที่นักวิชาการให้ดีที่สุด อีกทั้งยังทรงตระหนักดีถึงข้อจำกัดของนักวิชาการยุคบุกเบิกของท่าน ดังที่ได้ทรงปรารภไว้ในคำนำของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” ที่พิมพ์ครั้งแรกไว้ ดังนี้ วิชาโบราณคดีเป็นวิชาที่ไม่ยุติ เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ยังคงฝังจมอยู่ใต้ดิน จำต้องขุดค้นขึ้นมาพิสูจน์กัน เหตุนั้นบทความที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้ ต่อไปอาจผิดพลาดบ้างหรือผิดพลาดทั้งหมดก็ได้ เป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีหรือท่านที่สนใจในวิชาโบราณคดีจะต้องช่วยกันสอบค้นให้ได้ความจริงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในเวลาต่อไป

(รศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะภัณฑารักษ์

แม้งานด้านพิพิธภัณฑ์ในสังคมไทยจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าจ้าอยู่หัว แต่พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะสำหรับประชาชนอย่างกว้างขวาง อาจกล่าวได้ว่าเพิ่งเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในราวปลายทศวรรษ 2470 และมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ในช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มมีแนวคิดจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายแห่งให้กระจายตัวไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจาก หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่ทรงกล่าวถึงความสำคัญของการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามท้องถิ่นต่าง ๆ ไว้ว่า

“...สำหรับพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นนั้น ถ้าเป็นไปได้ เห็นสมควรจัดตั้งตามหัวเมืองที่สำคัญในปัจจุบัน และหัวเมืองที่เคยเป็นที่ตั้งที่สำคัญในสมัยก่อน...ถ้าจัดได้ดีจะน่าชมมาก ดังพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ หลายแห่งในทวีปยุโรป...การจัดพิพิธภัณฑ์ในท้องที่เหล่านี้มีประโยชน์มากในการทำให้ประชาชนมีความภาคภูมิรักชาติยิ่งขึ้น และยังอาจช่วยนำให้พากันดูแลเอาใจใส่รักษาโบราณวัตถุสถานในท้องถิ่นของตนเอง...”

นอกจากนี้ ยังทรงให้ความสำคัญกับวิธีการจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความสะดวกของผู้เข้าชม การจัดแสดงที่เข้าใจง่าย เส้นทางเดินที่ไม่สับสน และไม่เป็นการจัดแสดงที่ดูเป็นคลังเก็บโบราณวัตถุเช่นในอดีต ที่สำคัญคือ ในส่วนของการออกแบบโครงเรื่องในการจัดแสดง ทรงแสดงทัศนะที่ชัดเจนว่าควรจัดแสดงโดยแบ่งโบราณวัตถุออกเป็นยุคสมัยทางศิลปะที่มีการศึกษาค้นคว้าแล้วตามหลักวิชาการ ดังตัวอย่างเมื่อทรงกล่าวถึงการปรับปรุงการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่จะมีการสร้างอาคารจัดแสดงขึ้นใหม่ในปลายทศวรรษ 2490 พระองค์ทรงให้ความเห็นไว้ว่า

“...พิพิธภัณฑ์ที่สร้างใหม่นี้อาจเรียกชื่อได้ว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยและศิลปะปลายบุรพทิศ (Thai and Far Eastern Art Museum)...พิพิธภัณฑ์นี้อาจสร้างได้เป็น 2 ชั้น คือ ชั้นล่างเป็นศิลปะไทย ชั้นบนเป็นศิลปะปลายบุรพทิศ ชั้นล่างนั้นสมควรแบ่งเป็น 12 ห้อง หรือจะให้น้อยกว่านั้นแต่ห้องใหญ่ขึ้นก็ได้ เพื่อจัดตั้งศิลปวัตถุยุคต่างๆ ในประเทศไทย คือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ของต่างประเทศที่พบในเมืองไทย สมัยก่อนขอม สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์...”

หรือในคราวจัดพิพิธภัณฑ์ที่ไชยา ทรงรับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบการจัดแสดงด้วยพระองค์เอง ซึ่งมีหลักฐานบันทึกรูปแบบและวิธีการจัดแสดงตามแนวทางของพระองค์เอาไว้ว่า

“...การวางวัตถุเราใช้ระดับสายตาเป็นเกณฑ์ ซึ่งจะไม่เกิดขัดนัยน์ตาแก่ผู้ชม สิ่งของที่จัดตั้งวางอย่างได้ระเบียบ...การเดินเข้าชมหลังที่สองนี้มีทางเข้าทางหนึ่งและทางออกทางหนึ่ง ผู้ชมจะไม่เกิดงงในการเดินชมสิ่งของ หรือไม่เกิดเดินหลงไปหลงมา...และนอกจากนี้ผู้ชมจะไม่รู้สึกเบื่อในการเดินชม ผู้ชมจะเข้าใจลำดับสมัยศิลปวัตถุในประเทศไทยได้เอง ท่านอาจารย์ (หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ-ผู้เขียน) ได้ทรงจัดพระพุทธรูปไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ตามสมัยเรียงตามลำดับ คือสมัยคันธารราฐ, ปาละเสนะ, ศรีวิชัย, ลพบุรี, สุโขทัย, อู่ทองสมัยที่ 1,2 และ 3, อยุธยา, และรัตนโกสินทร์...”

นอกจากตัวอย่างของทั้ง 2 แห่งข้างต้น หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ยังได้เข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญต่อการออกแบบการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอีกมากมาย ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดคือพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งต่อการศึกษาและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของสังคมไทย และพระกรณียกิจด้านนี้ก็ได้กลายเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้เกี่ยวข้องสานต่อแนวคิดในการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอีกหลายแห่งตามมา

อาจกล่าวได้ว่า หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเป็นภัณฑารักษ์รุ่นบุกเบิก ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านทางรูปแบบและเนื้อหาการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ตามระบบสมัยใหม่ของไทย ทรงใส่พระทัยในงานการออกแบบเพื่อให้ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจโบราณวัตถุได้ง่ายผ่านการแบ่งหมวดหมู่การจัดแสดงตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่ทรงวางแนวทางและรากฐานการจัดแสดงเช่นนี้ให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกือบทุกแห่งในสังคมไทย ซึ่งพระปรีชาในด้านนี้ยังคงได้รับการสืบทอดอย่างมั่นคง เป็นหนึ่งแนวทางกระแสหลักในการจัดแสดงโบราณวัตถุของสังคมไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน

(ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

Results 1 to 10 of 18