ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะนักวิชาการ
- TH Subhadradis 06 MISC-03-01-003-0004
- 2565
Part of ปกิณกะ
ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงทำหน้าที่นักวิชาการในหลากหลายมิติ นอกจากจะทรงนิพนธ์และเรียบเรียงหนังสือและตำราทางประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออกไว้มากมายหลายเล่มแล้ว ยังทรงนิพนธ์และแปลบทความทางวิชาการจากภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยไว้อีกเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บทความทางวิชาการของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่พิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารต่าง ๆ โดยเฉพาะ วารสารศิลปากร กลับเป็นผลงานทางวิชาการที่สำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี โดยเฉพาะบทความปริทัศน์ (Review Article) ที่แสดงให้เห็นประเด็นโต้แย้งทางวิชาการ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ทั้งทางกว้างและทางลึกอย่างมีหลักการของนักวิชาการผู้รอบรู้ทั้งหลักทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ทั้งมีประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานจากการศึกษางานศิลปะ ณ สถานที่จริง
ผลงานทางวิชาการในอีกมิติหนึ่งที่สำคัญมากต่อการปกป้องโบราณวัตถุอันเป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมอันมีค่ายิ่งของชาติ นั่นคือ บทความที่ให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุของชาติที่ถูกโจรกรรมและลักลอบนำออกไปนอกประเทศไทย นำไปขายในตลาดมืด และตกไปอยู่ในความครอบครองของชาวต่างชาติ ดังเช่นกรณีของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่หายไปจากปราสาทพนมรุ้ง และไปปรากฏใน “The Art Institute of Chicago” เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา นอกจาก ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล จะทรงนิพนธ์เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังทรงมีหนังสือแจ้งไปยังอธิบดีกรมศิลปากร ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 และทรงแนะนำให้กรมศิลปากรติดต่อประสานเพื่อทวงคืนทับหลังกลับคืนมาด้วย หลังจากการเรียกร้องทวงคืนเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จึงได้กลับคืนมาสู่มาตุภูมิ หลังจากถูกโจรกรรมไปนานกว่า 30 ปี
การเดินทางไปสำรวจและให้ความรู้แก่นักศึกษาโบราณคดีตามแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ ก็นับเป็นอีกมิติหนึ่งที่สำคัญในฐานะนักวิชาการของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ดังเช่น การนำนักศึกษาคณะโบราณคดีและคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางไปสำรวจและบูรณะปราสาทหินเขาพระวิหารร่วมกับ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เมื่อปลายปี พ.ศ. 2502
ถึงแม้การทำงานในฐานะนักวิชาการในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านข้อมูลและหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดี หรือจากหลักฐานเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ แต่ท่านก็ยังทรงมุ่งมั่นและตั้งพระทัยในการทำหน้าที่นักวิชาการให้ดีที่สุด อีกทั้งยังทรงตระหนักดีถึงข้อจำกัดของนักวิชาการยุคบุกเบิกของท่าน ดังที่ได้ทรงปรารภไว้ในคำนำของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” ที่พิมพ์ครั้งแรกไว้ ดังนี้ วิชาโบราณคดีเป็นวิชาที่ไม่ยุติ เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ยังคงฝังจมอยู่ใต้ดิน จำต้องขุดค้นขึ้นมาพิสูจน์กัน เหตุนั้นบทความที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้ ต่อไปอาจผิดพลาดบ้างหรือผิดพลาดทั้งหมดก็ได้ เป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีหรือท่านที่สนใจในวิชาโบราณคดีจะต้องช่วยกันสอบค้นให้ได้ความจริงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในเวลาต่อไป
(รศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)
กฤษณา หงษ์อุเทน