- TH Subhadradis 06 MISC-03-01-003-0004-0004C
- 2565
Part of ปกิณกะ
ศิลปะสมัยลพบุรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2547 ซึ่งห่างจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 นานถึง 37 ปี ระหว่างนั้นได้มีการพบหลักฐานใหม่จากการขุดแต่งโบราณสถานขอมในประเทศไทยที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง อีกทั้งยังมีผลงานศึกษาวิจัยของนักวิชาการรุ่นหลัง ซึ่งมีวิธีการและเครื่องมือในการศึกษาที่มีคุณภาพและทันสมัยมากกว่าในอดีต ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับศิลปะสมัยลพบุรีออกมาอีกไม่น้อย จึงทำให้คณะผู้ดูแลรับผิดชอบการจัดพิมพ์หนังสือ “ศิลปะลพบุรี” เห็นควรต้องแก้ไขข้อมูลบางส่วนให้ถูกต้อง รวมทั้งเพิ่มเติมข้อมูลหลักฐานที่มีการค้นพบใหม่ในช่วงเวลา 37 ปีที่ผ่านมาด้วย เพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ดังที่ได้ทรงปรารภไว้ในคำนำของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” ที่พิมพ์ครั้งแรกไว้ ดังนี้ วิชาโบราณคดีเป็นวิชาที่ไม่ยุติ เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ยังคงฝังจมอยู่ใต้ดิน จำต้องขุดค้นขึ้นมาพิสูจน์กัน เหตุนั้นบทความที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้ ต่อไปอาจผิดพลาดบ้างหรือผิดพลาดทั้งหมดก็ได้ เป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีหรือท่านที่สนใจในวิชาโบราณคดีจะต้องช่วยกันสอบค้นให้ได้ความจริงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในเวลาต่อไป
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ศิลปะสมัยลพบุรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2547 ยังเป็นประโยชน์ยิ่งต่อผู้ต้องการศึกษาหาความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับศิลปะสมัยลพบุรี เพราะนอกจากจะได้อ่านส่วนที่เป็นพระนิพนธ์ดั้งเดิม ซึ่งทางคณะผู้จัดทำยังคงรักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมไว้ทั้งหมดแล้ว ยังได้รับทราบข้อมูลและหลักฐานใหม่ ที่ได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดี รวมทั้งข้อคิดเห็นที่ต่างไปจากเนื้อความในหนังสือที่พิมพ์ครั้งแรก ซึ่งมีทั้งมาจากหนังสือที่ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ขึ้นเองหลังจากนั้น ทั้งมาจากผลงานวิจัยของนักวิชาการรุ่นหลัง สำหรับส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องก็จะเพิ่มเติมข้อความที่แก้ไขต่อท้ายส่วนนั้น ๆ โดยจะพิมพ์เป็นตัวเอนไว้ในวงเล็บ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเห็นได้ชัดเจนว่า ส่วนใดเป็นเนื้อความตามต้นฉบับเดิม ส่วนใดเป็นข้อความที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ นอกจากนั้นยังมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำคัญบางประการในรูปแบบเชิงอรรถอีกด้วย
เนื้อหาของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” แบ่งเป็น 4 หัวข้อ คือ สถาปัตยกรรม ประติมากรรมศิลาและสัมฤทธิ์ จิตรกรรม และเครื่องปูนปั้นและดินเผา โดยแยกอธิบายแบบอย่างศิลปะตามลำดับเวลา มีภาพประกอบขาวดำแทรกในเล่ม 118 ภาพ
(ศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)
กฤษณา หงษ์อุเทน