Showing 9 results

Archival description
อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช
Print preview View:

3 results with digital objects Show results with digital objects

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะมัคคุเทศก์

บทบาทหนึ่งของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล หรือ ท่านอาจารย์ คือ มัคคุเทศก์ นอกจากได้เคยถวายการนำชมแด่พระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรีแล้ว ท่านอาจารย์ยังเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ถวายการนำชมแด่พระราชอาคันตุกะที่เป็นพระประมุข ประมุข และผู้นำของชาติต่างๆอยู่หลายครั้ง เช่น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร, สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 9 แห่งเดนมาร์กและไอซ์แลนด์, สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น และนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งสร้างความพอพระราชหฤทัยและความประทับใจให้แก่พระราชอาคันตุกะเป็นอย่างมาก โดยในครั้งที่ท่านอาจารย์ทรงนำชมถวายแด่สมเด็จพระราชินีอิงกริด ในสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 9 แห่งเดนมาร์คและไอซ์แลนด์นั้น วันสุดท้ายที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ โดยทรงมอบหมายให้ท่านอาจารย์เป็นผู้ถวายการนำชมเพียงท่านเดียว

นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ให้กับกิจกรรมทัศนศึกษา “โบราณคดีสัญจร” จัดโดยนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย กิจกรรมดังกล่าวมีขึ้นเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 โดยพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปทัศนศึกษาแหล่งโบราณคดีในจังหวัดอุดรธานี สกลนคร และนครพนม รายได้จากกิจกรรมนี้นำไปเป็นทุนการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษา และเป็นจุดเริ่มต้นของทุนการศึกษาโบราณคดีทัศนาจรด้วย ทั้งนี้กิจกรรมโบราณคดีสัญจรกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาและผู้เข้าร่วมโครงการหลายท่านที่จะดำเนินรอยตามท่านอาจารย์ในฐานะมัคคุเทศก์ด้วย เช่น คุณไพรัตน์ สูงกิจบูลย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท สวัสดีฮอลิเดย์ จำกัด ซึ่งคุณไพรัตน์และเพื่อน ๆ ผู้ร่วมก่อตั้งได้กราบทูลเชิญท่านอาจารย์เป็นองค์ประธานที่ปรึกษาของบริษัท

การเป็นมัคคุเทศก์ในหลากหลายโอกาส นอกเหนือจากภารกิจที่ทรงได้รับมอบหมายแล้ว ท่านอาจารย์ยังทรงเล็งเห็นความสำคัญของมัคคุเทศก์ที่จะทำให้ความรู้ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะแพร่หลายสู่บุคคลทั่วไป และยังทรงเห็นว่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรักประเทศชาติด้วย

ด้วยการให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่านอาจารย์ทรงมีความคิดล้ำสมัยในการสนับสนุนให้จัดกิจกรรม “แสงและเสียง” ในพื้นที่โบราณสถาน เพื่อให้ประชาชนสนใจเยี่ยมชมโบราณสถานและเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2515 ท่านอาจารย์ทรงทำจดหมายถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยเนื้อความในจดหมายระบุว่า

“...เรื่อง “แสงและเสียง” ที่จะจัดทำในประเทศไทยนี้ ผมเห็นว่าถ้าทำได้ ก็คงจะเป็นการดี เพราะเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ อาจก่อให้ประชาชนไทยมีความภาคภูมิใจและรักชาติยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการดึงดูนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศด้วย...การเลือกสถานที่ควรเลือกที่มีเรื่องราวตื่นเต้นพอสมควร เพื่อเร้าใจผู้ดูประกอบ เช่น...ถ้าป็นที่พระนครศรีอยุธยา ก็ต้องมีตอนเสียกรุง ถ้าเป็นที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ก็ต้องมีตอนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต...”

หลักฐานชิ้นนี้แสดงให้เห็นชัดว่าท่านอาจารย์ทรงให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวในฐานะเครื่องมือสร้างความรักชาติและพร้อมเปิดรับวิธีการใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งความคิดดังกล่าวถูกนำมาปฎิบัติจริงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 ที่วัดอรุณราชวราราม และขยายตัวต่อเนื่องจนกลายเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในการท่องเที่ยวโบราณสถานสืบมาจนถึงปัจจุบัน

(รศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

สังเขปหนังสือ คำบรรยายเรื่อง ศิลปในประเทศไทย (ศิลปะในประเทศไทย)

ศิลปะในประเทศไทย เป็นตำราสำคัญอีกเล่มหนึ่งสำหรับนักศึกษาและผู้สนใจศึกษาศิลปกรรมโบราณในดินแดนไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ขึ้นหลังจากที่ท่านไปแสดงปาฐกถาเรื่องศิลปะในประเทศไทยให้กับนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2506

ข้อมูลจากหนังสือดังกล่าวนั้น ท่านอาจารย์ทรงเรียบเรียงจากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บทความของศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และบทความของนักวิชาการต่างประเทศอีกหลายท่าน อีกทั้ง เนื้อหาบางส่วนมาจากข้อสังเกตทางวิชาการของท่านอาจารย์ด้วย ทั้งนี้ ท่านอาจารย์แบ่งเนื้อหาตามยุคสมัยงานศิลปกรรม โดยเริ่มต้นจากยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุครัตนโกสินทร์

หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ทั้งหมด 15 ครั้ง โดยในการพิมพ์ครั้งที่ 1 ใช้ชื่อว่า คำบรรยายเรื่อง ศิลปในประเทศไทย ต่อมา มีการเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น ศิลปะในประเทศไทย

(ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

สังเขปหนังสือ ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง

ในการจัดการเรียนการสอนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ความรู้พื้นฐานที่นักศึกษาจะต้องเรียนคือ ศิลปะอินเดีย ศิลปะลังกา และศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ขอม พม่า ชวา และจาม ดังนั้น หนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง จึงเป็นตำราเล่มแรกๆ ที่นักศึกษาในหลักสูตรจะต้องอ่าน

หนังสือเล่มนี้มีที่มาจากการแสดงปาฐกถาของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล แก่นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2506 ในเวลาต่อมา ท่านอาจารย์ทรงเรียบเรียงปาฐกถาดังกล่าวออกเป็นหนังสือ 2 เล่ม คือ ศิลปอินเดีย และ ประวัติย่อศิลปลังกา ชวา ขอม มีเนื้อหามาจากบทความของศาสตราจารย์ฟิลิปป์ สแตร์น และจากการเดินทางไปสำรวจแหล่งโบราณสถานด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงเรียบเรียงเสร็จแล้ว ทรงนำไปใช้เป็นตำราทั้งในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหามกุฏราชวิทยาลัย

เมื่อท่านอาจารย์มีชันษาครบ 72 ปี ในปี พ.ศ.2538 มีการจัดพิมพ์หนังสือโดยรวมเนื้อหาของทั้งสองเล่มเข้าด้วยกัน และทรงนิพนธ์เพิ่มขึ้นอีก 3 เรื่อง คือ ศิลปะจาม ศิลปะพม่า และศิลปะลาว เพื่อให้ครบประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง ปัจจุบันนี้ หนังสือเล่มดังกล่าวตีพิมพ์ทั้งหมด 7 ครั้ง

(ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

สังเขปหนังสือ เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย

เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย เป็นงานวิจัยได้รับทุนอุดหนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2507 โดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ศึกษากำหนดอายุเทวรูปสัมฤทธิ์ในศิลปะสุโขทัยโดยใช้วิวัฒนาการลวดลาย

งานวิจัยชิ้นนี้มีความน่าสนใจ เพราะถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่มีการนำวิธีการศึกษาที่เรียกว่า “วิวัฒนการแห่งลวดลาย” มาใช้เป็นครั้งแรกในการศึกษาศิลปะไทย ทั้งนี้ นักวิชาการชาวต่างประเทศเคยใช้วิธีการดังกล่าวในการศึกษาศิลปกรรมโบราณของอินเดีย ขอม และจาม มาก่อน ส่วนท่านอาจารย์ทรงศึกษาวิธีการนี้มาจากศาสตราจารย์ ฟิลิปป์ สแตร์น ในช่วงที่ท่านอาจารย์ยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส วิธีการศึกษาดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในแนวทางการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจนกระทั่งปัจจุบัน

ผลจากการศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ ของเทวรูปกลุ่มนี้ ทำให้สามารถกำหนดอายุประติมากรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับดินแดนภายนอกที่สะท้อนผ่านรูปแบบศิลปกรรมของเทวรูปกลุ่มนี้ด้วย

(ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะนักวิชาการ

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงทำหน้าที่นักวิชาการในหลากหลายมิติ นอกจากจะทรงนิพนธ์และเรียบเรียงหนังสือและตำราทางประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออกไว้มากมายหลายเล่มแล้ว ยังทรงนิพนธ์และแปลบทความทางวิชาการจากภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยไว้อีกเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บทความทางวิชาการของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่พิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารต่าง ๆ โดยเฉพาะ วารสารศิลปากร กลับเป็นผลงานทางวิชาการที่สำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี โดยเฉพาะบทความปริทัศน์ (Review Article) ที่แสดงให้เห็นประเด็นโต้แย้งทางวิชาการ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ทั้งทางกว้างและทางลึกอย่างมีหลักการของนักวิชาการผู้รอบรู้ทั้งหลักทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ทั้งมีประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานจากการศึกษางานศิลปะ ณ สถานที่จริง

ผลงานทางวิชาการในอีกมิติหนึ่งที่สำคัญมากต่อการปกป้องโบราณวัตถุอันเป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมอันมีค่ายิ่งของชาติ นั่นคือ บทความที่ให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุของชาติที่ถูกโจรกรรมและลักลอบนำออกไปนอกประเทศไทย นำไปขายในตลาดมืด และตกไปอยู่ในความครอบครองของชาวต่างชาติ ดังเช่นกรณีของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่หายไปจากปราสาทพนมรุ้ง และไปปรากฏใน “The Art Institute of Chicago” เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา นอกจาก ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล จะทรงนิพนธ์เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังทรงมีหนังสือแจ้งไปยังอธิบดีกรมศิลปากร ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 และทรงแนะนำให้กรมศิลปากรติดต่อประสานเพื่อทวงคืนทับหลังกลับคืนมาด้วย หลังจากการเรียกร้องทวงคืนเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จึงได้กลับคืนมาสู่มาตุภูมิ หลังจากถูกโจรกรรมไปนานกว่า 30 ปี

การเดินทางไปสำรวจและให้ความรู้แก่นักศึกษาโบราณคดีตามแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ ก็นับเป็นอีกมิติหนึ่งที่สำคัญในฐานะนักวิชาการของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ดังเช่น การนำนักศึกษาคณะโบราณคดีและคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางไปสำรวจและบูรณะปราสาทหินเขาพระวิหารร่วมกับ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เมื่อปลายปี พ.ศ. 2502

ถึงแม้การทำงานในฐานะนักวิชาการในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านข้อมูลและหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดี หรือจากหลักฐานเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ แต่ท่านก็ยังทรงมุ่งมั่นและตั้งพระทัยในการทำหน้าที่นักวิชาการให้ดีที่สุด อีกทั้งยังทรงตระหนักดีถึงข้อจำกัดของนักวิชาการยุคบุกเบิกของท่าน ดังที่ได้ทรงปรารภไว้ในคำนำของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” ที่พิมพ์ครั้งแรกไว้ ดังนี้ วิชาโบราณคดีเป็นวิชาที่ไม่ยุติ เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ยังคงฝังจมอยู่ใต้ดิน จำต้องขุดค้นขึ้นมาพิสูจน์กัน เหตุนั้นบทความที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้ ต่อไปอาจผิดพลาดบ้างหรือผิดพลาดทั้งหมดก็ได้ เป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีหรือท่านที่สนใจในวิชาโบราณคดีจะต้องช่วยกันสอบค้นให้ได้ความจริงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในเวลาต่อไป

(รศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน

วีดิทัศน์สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เข้าศึกษาที่คณะโบราณคดี สาขาภาษาไทย ในปี พ.ศ.2536 แต่ด้วยความสามารถด้านศิลปะไทยที่ปรากฏอย่างเด่นชัด เป็นผลให้ท่านอาจารย์จึงประทานคำแนะนำให้ย้ายมาศึกษาในสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะเมื่อปี พ.ศ. 2537

สำหรับอาจารย์รุ่งโรจน์ การแปลผลางานวิชาการต่างประเทศทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสของท่านอาจารย์ช่วยสร้างรากฐานองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเป็นอย่างมาก

“ ผมรู้จักท่านชายนะ แรก ๆ คืออ่านจากหนังสือตำราพระพุทธเจดีย์สยาม เพราะท่านเป็นคนเขียนเชิงอรรถ พอมาเจอท่านจริง ๆ ท่านเป็นคนอธิบายรู้เรื่อง มีที่มาที่ไป ในเรื่องความจำอย่าไปเถียงกับท่านชาย ท่านจำได้ทั้งหมด ”

“ การศึกษาโบราณคดีกับประวัติศาสตร์ศิลป์เนี่ยมันเปลี่ยนแปลงไปเพราะท่านเอาทฤษฎีวิวัฒนาการมาใช้ ”

“ ท่านชายเป็นจุดเริ่มต้นของผม ”

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

วีดิทัศน์สัมภาษณ์ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ

อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ จบการศึกษาจากคณะโบราณคดีรุ่นที่ 19 แรกเริ่มเดิมทีรู้จักท่านอาจารย์ผ่านผู้เป็นแม่ ซึ่งเคยเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับท่านอาจารย์เมื่อครั้งศึกษาอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้นอาจารย์เผ่าทองศึกษาต่อที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรก็ได้เข้าเรียนกับท่านอาจารย์โดยตรง

ในสมัยเรียน อาจารย์เผ่าทองตั้งใจทำกิจกรรมควบคู่กับเล่าเรียน รับวิชาความรู้และการอบรมสั่งสอนของท่านอาจารย์มาสม่ำเสมอ แม้จบการศึกษามาหลายปีก็ยังคงได้รับพระเมตตา อาจารย์เผ่าทองกล่าวว่าสิ่งที่ท่านอาจารย์ส่งต่อในฐานะครูบาอาจารย์ ตนยังคงระลึกถึงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“ ตอนนั้นท่านเกษียณแล้วก็มาทรงงานอยู่ที่ SPAFA ผมก็เดินทางจากบ้านไปขอเฝ้ากราบพระบาทรับพร จำได้ว่าเอาหน้าผากลงไปบนหลังรองเท้าท่าน ท่านก็ลูบหัวตบหัว ประทานพรให้มีความเจริญรุ่งเรือง ให้ประสบความสำเร็จให้อะไรต่าง ๆ ก็เป็นอะไรที่เราซาบซึ้งมาก ”

“ความเป็นครูอาจารย์ของท่านมันไม่ได้ขาดกันเฉพาะในมหาวิทยาลัย ความเป็นครูบาอาจารย์ของท่านเนี่ยต่อเนื่องกันมาอยู่เสมอ ”

“ ยังใช้วิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ของท่านเนี่ยสอนอยู่ ก็ต้องกราบพระบาทเอาไว้ว่าเป็นพระกรุณาอย่างสูงล้นเกล้าที่ทำให้เรามีอาชีพที่ดี ได้ใช้อาชีพที่ท่านประทานสอนไว้เลี้ยงตัวโดยตรง รวมทั้งได้นำมารับใช้ประเทศชาติ ถ้าไม่มีท่านก็คงไม่มีเราในวันนี้ ไม่มีเราที่จะมานั่งอยู่ตรงนี้ทุกวันนี้ครับ ”

(คลิกรูปภาพเพื่อรับชมวีดิทัศน์สัมภาษณ์)

เผ่าทอง ทองเจือ

วีดิทัศน์สัมภาษณ์ คุณเพลินพิศ กำราญ

นางสาวเพลินพิศ กำราญ จบการศึกษาจากคณะโบราณคดีรุ่นที่ 9 เมื่อปีพุทธศักราช 2506 ช่วงแรกของการศึกษา ในรุ่นของคุณเพลินพิศเรียกท่านอาจารย์ว่าอาจารย์ท่านชาย ก่อนเปลี่ยนเป็นเรียกท่านอาจารย์ในภายหลัง คุณเพลินพิศกล่าวว่าการสอนสั่งของท่านอาจารย์ใช้ภาพประกอบและคำช่วยที่ทำให้จดจำบทเรียนได้ง่าย ท่านเป็นผู้มีเมตตาต่อนักศึกษา คอยสอนสั่งโดยไม่ถือตนทั้งในมหาวิทยาลัยหรือเวลาออกไปทำกิจกรรมภาคสนาม ให้ความช่วยเหลืออุปการะคุณผู้อื่นอย่างไม่แบ่งแยก

“ มีรุ่นพี่ผู้ชายคนหนึ่ง เขามาจากสุโขทัย ท่านก็มีพระเมตตา ตอนแรกท่านไม่ทราบว่าเขาอาศัยอยู่ที่ไหน แต่ตอนหลังเมื่อทราบว่าเป็นเด็กต่างจังหวัด ท่านก็ไปฝากให้อาศัยอยู่ที่วังสวนผักกาด ฝึกเป็นมัคคุเทศน์ แล้วก็ส่งไปเรียนเป็นกิจลักษณะ ก็เลยคิดว่า เออ ท่านมีพระเมตตานะ ”

“ การไปขุดค้นที่อู่ทอง ท่านอาจารย์ก็ไปอยู่กับพวกเราระหว่างการขุดค้น ตอนกลางคืนที่พักหลังจากการขุดค้น ที่อู่ทองจะมีตลาดกลางคืน เราก็ไปดูหนัง แล้วก็มีขนมน้ำแข็งไสสมัยก่อน ก่อนดูหนังพวกเราจะต้องไปทานขนมน้ำแข็งไส ถ้าท่านอาจารย์ไปท่านอาจารย์ก็จะบอกวันนี้ฉันเลี้ยง ใครที่ได้รับเลี้ยงก็รู้สึกเป็นหน้าเป็นตา คุยไปหลายวัน ประทับใจท่านมาก ”

“ ท่านอาจารย์จะสอนให้รู้ในสิ่งที่เรียน แล้วก็จดจำเพื่อเอาไปใช้ในการทำงาน ”

(คลิกรูปภาพเพื่อรับชมวีดิทัศน์สัมภาษณ์)

เพลินพิศ กำราญ