Showing 5 results

Archival description
ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
Print preview View:

3 results with digital objects Show results with digital objects

พระประวัติ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้ารมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเจิม ดิศกุล ประสูติเมื่อวันศุกร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2466 จนเมื่อพระชันษาได้ 1 เดือน หม่อมเจิมจึงได้ถวายแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา ตามที่ได้ทรงเคยขอไว้ตั้งแต่ที่หม่อมเจิมมีครรภ์ กระทั่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา สิ้นพระชนม์ลง จึงกลับมาประทับที่วังวรดิศตามเดิมเมื่อพระชันษาได้ 11 ปี

ด้านการศึกษา ทรงสำเร็จการศึกษาด้านอักษรศาสตร์จากจุฬาลงกรร์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2486 จากนั้นในปี พ.ศ. 2491 ทรงได้รับทุนจากบริติชเคาน์ซิลให้เสด็จไปทอดพระเนตรงานด้านการพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี ณ ประเทศอังกฤษ แล้วจึงตั้งพระทัยที่จะศึกษาต่อด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีที่โรงเรียนลูฟ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษา และจะทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่อังกฤษ แต่ยังมิทันสำเร็จก็มีเหตุให้เสด็จกลับเมืองไทยก่อน ในปี พ.ศ.2496

ภายหลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว ทรงเข้าทำงานในกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และย้ายไปเป็นหัวหน้าแผนกหอสมุดดำรงราชานุภาพ สังกัดกรมศิลปากร จนกระทั่งทรงศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศและเสด็จกลับไทยแล้ว ก็ยังทรงปฏิบัติงานในกรมศิลปากรอยู่ แต่ย้ายมาประจำตำแหน่งภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้มักจะทรงเป็นวิทยากร ถวายการนำชม และทรงนำชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยแด่แขกคนสำคัญของบ้านเมือง ทั้งพระประมุขและประมุขของชาติต่าง ๆ ที่มาเยือนประเทศไทยโดยตลอด

ระหว่างที่ทรงเป็นภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็ทรงสอนนักศึกษาของคณะโบราณคดี และ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วประเทศด้วย โดยทรงวางรากฐานการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี ให้กับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยหลักสูตรการศึกษาเป็นเช่นเดียวกับที่ทรงได้รับการศึกษามาจากประเทศ ทรงนิพนธ์ตำราทางวิชาการ หนังสือนำชม หนังสือทรงแปลจากภาษาต่างประเทศ หนังสือที่ทรงชำระใหม่ หนังสือรวมบทความ บทความวิชาการที่ตีพิมพ์ลงในวารสารต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ จำนวนหลายเรื่อง เช่น เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย ศิลปะอินเดีย ศิลปะลังกา ชวา ขอม เที่ยวเมืองลังกา ศิลปะอินโดนีเซียสมัยโบราณ ประติมากรรมขอม ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม ศิลปะในประเทศไทย เป็นต้น ต่อมาภายหลังจึงทรงโอนย้ายมาเป็นศาสตราจารย์ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อีกทั้งทรงดำรงตำแหน่งทั้งทางด้านบริหาร จนเกษียณอายุราชการในปี 2529 แต่ก็ยังคงเสด็จเข้ามาสอนที่คณะโบราณคดีอยู่เสมอจนประชวร ในปี 2540 นอกจากนี้ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ภายใต้องค์การรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SPAFA และ คณะกรรมการต่าง ๆ ของกรมศิลปากรอยู่ตลอด

ภายหลังจากที่ทรงเกษียณอายุราชการแล้วและประชวรด้วยโรคพระหทัย ซึ่งทรงได้รับการผ่าตัดแล้ว แต่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ก็ยังทรงทำงานอยู่เรื่อยมา ทั้งงานสอนในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และการเป็นคณะกรรมการต่าง ๆ ของทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี ตามปรกติ กระทั่งวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ทรงลื่นล้มในห้องสรง และประชวรทรุดลงตามลำดับ จนสิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 สิริพระชันษาได้ 80 ปี

ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

วีดิทัศน์สัมภาษณ์ คุณเพลินพิศ กำราญ

นางสาวเพลินพิศ กำราญ จบการศึกษาจากคณะโบราณคดีรุ่นที่ 9 เมื่อปีพุทธศักราช 2506 ช่วงแรกของการศึกษา ในรุ่นของคุณเพลินพิศเรียกท่านอาจารย์ว่าอาจารย์ท่านชาย ก่อนเปลี่ยนเป็นเรียกท่านอาจารย์ในภายหลัง คุณเพลินพิศกล่าวว่าการสอนสั่งของท่านอาจารย์ใช้ภาพประกอบและคำช่วยที่ทำให้จดจำบทเรียนได้ง่าย ท่านเป็นผู้มีเมตตาต่อนักศึกษา คอยสอนสั่งโดยไม่ถือตนทั้งในมหาวิทยาลัยหรือเวลาออกไปทำกิจกรรมภาคสนาม ให้ความช่วยเหลืออุปการะคุณผู้อื่นอย่างไม่แบ่งแยก

“ มีรุ่นพี่ผู้ชายคนหนึ่ง เขามาจากสุโขทัย ท่านก็มีพระเมตตา ตอนแรกท่านไม่ทราบว่าเขาอาศัยอยู่ที่ไหน แต่ตอนหลังเมื่อทราบว่าเป็นเด็กต่างจังหวัด ท่านก็ไปฝากให้อาศัยอยู่ที่วังสวนผักกาด ฝึกเป็นมัคคุเทศน์ แล้วก็ส่งไปเรียนเป็นกิจลักษณะ ก็เลยคิดว่า เออ ท่านมีพระเมตตานะ ”

“ การไปขุดค้นที่อู่ทอง ท่านอาจารย์ก็ไปอยู่กับพวกเราระหว่างการขุดค้น ตอนกลางคืนที่พักหลังจากการขุดค้น ที่อู่ทองจะมีตลาดกลางคืน เราก็ไปดูหนัง แล้วก็มีขนมน้ำแข็งไสสมัยก่อน ก่อนดูหนังพวกเราจะต้องไปทานขนมน้ำแข็งไส ถ้าท่านอาจารย์ไปท่านอาจารย์ก็จะบอกวันนี้ฉันเลี้ยง ใครที่ได้รับเลี้ยงก็รู้สึกเป็นหน้าเป็นตา คุยไปหลายวัน ประทับใจท่านมาก ”

“ ท่านอาจารย์จะสอนให้รู้ในสิ่งที่เรียน แล้วก็จดจำเพื่อเอาไปใช้ในการทำงาน ”

(คลิกรูปภาพเพื่อรับชมวีดิทัศน์สัมภาษณ์)

เพลินพิศ กำราญ

วีดิทัศน์สัมภาษณ์ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ

อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ จบการศึกษาจากคณะโบราณคดีรุ่นที่ 19 แรกเริ่มเดิมทีรู้จักท่านอาจารย์ผ่านผู้เป็นแม่ ซึ่งเคยเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับท่านอาจารย์เมื่อครั้งศึกษาอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้นอาจารย์เผ่าทองศึกษาต่อที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรก็ได้เข้าเรียนกับท่านอาจารย์โดยตรง

ในสมัยเรียน อาจารย์เผ่าทองตั้งใจทำกิจกรรมควบคู่กับเล่าเรียน รับวิชาความรู้และการอบรมสั่งสอนของท่านอาจารย์มาสม่ำเสมอ แม้จบการศึกษามาหลายปีก็ยังคงได้รับพระเมตตา อาจารย์เผ่าทองกล่าวว่าสิ่งที่ท่านอาจารย์ส่งต่อในฐานะครูบาอาจารย์ ตนยังคงระลึกถึงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“ ตอนนั้นท่านเกษียณแล้วก็มาทรงงานอยู่ที่ SPAFA ผมก็เดินทางจากบ้านไปขอเฝ้ากราบพระบาทรับพร จำได้ว่าเอาหน้าผากลงไปบนหลังรองเท้าท่าน ท่านก็ลูบหัวตบหัว ประทานพรให้มีความเจริญรุ่งเรือง ให้ประสบความสำเร็จให้อะไรต่าง ๆ ก็เป็นอะไรที่เราซาบซึ้งมาก ”

“ความเป็นครูอาจารย์ของท่านมันไม่ได้ขาดกันเฉพาะในมหาวิทยาลัย ความเป็นครูบาอาจารย์ของท่านเนี่ยต่อเนื่องกันมาอยู่เสมอ ”

“ ยังใช้วิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ของท่านเนี่ยสอนอยู่ ก็ต้องกราบพระบาทเอาไว้ว่าเป็นพระกรุณาอย่างสูงล้นเกล้าที่ทำให้เรามีอาชีพที่ดี ได้ใช้อาชีพที่ท่านประทานสอนไว้เลี้ยงตัวโดยตรง รวมทั้งได้นำมารับใช้ประเทศชาติ ถ้าไม่มีท่านก็คงไม่มีเราในวันนี้ ไม่มีเราที่จะมานั่งอยู่ตรงนี้ทุกวันนี้ครับ ”

(คลิกรูปภาพเพื่อรับชมวีดิทัศน์สัมภาษณ์)

เผ่าทอง ทองเจือ

วีดิทัศน์สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เข้าศึกษาที่คณะโบราณคดี สาขาภาษาไทย ในปี พ.ศ.2536 แต่ด้วยความสามารถด้านศิลปะไทยที่ปรากฏอย่างเด่นชัด เป็นผลให้ท่านอาจารย์จึงประทานคำแนะนำให้ย้ายมาศึกษาในสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะเมื่อปี พ.ศ. 2537

สำหรับอาจารย์รุ่งโรจน์ การแปลผลางานวิชาการต่างประเทศทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสของท่านอาจารย์ช่วยสร้างรากฐานองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเป็นอย่างมาก

“ ผมรู้จักท่านชายนะ แรก ๆ คืออ่านจากหนังสือตำราพระพุทธเจดีย์สยาม เพราะท่านเป็นคนเขียนเชิงอรรถ พอมาเจอท่านจริง ๆ ท่านเป็นคนอธิบายรู้เรื่อง มีที่มาที่ไป ในเรื่องความจำอย่าไปเถียงกับท่านชาย ท่านจำได้ทั้งหมด ”

“ การศึกษาโบราณคดีกับประวัติศาสตร์ศิลป์เนี่ยมันเปลี่ยนแปลงไปเพราะท่านเอาทฤษฎีวิวัฒนาการมาใช้ ”

“ ท่านชายเป็นจุดเริ่มต้นของผม ”

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล