Showing 7 results

Archival description
ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล
Print preview View:

1 results with digital objects Show results with digital objects

การเสด็จประเทศแคนาดา

จดหมายจากกระทรวงการต่างประเทศถึง ศ.ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล แจ้งการได้รับหนังสือจากสถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงออตตาวา แคนาดา เพื่อส่ง ข่าวตัดหนังสือพิมพ์การเสด็จประเทศแคนาดา ในสื่อต่าง ๆ ได้แก่ วารสาร Newsletter, หนังสือพิมพ์ The Province และหนังสือพิมพ์ North Shore Weekender สูจิบัตรและเอกสารแนะนำองค์ปาฐกในการเสด็จตามคำทูลเชิญของมูลนิธิเอเชียแปซิฟิค ในฐานะที่ทรงเป็นองค์ปาฐกในงานสัมมนาเรื่อง Art History of Bangkok ณ Museum of Vancouver ประเทศแคนาดา วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2530 โดยเอกสารแนะนำองค์ปาฐกได้กล่าวถึงพระประวัติและการศึกษาของท่านอาจารย์ ตลอดจนผลงานในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง อาทิ การนิพนธ์หนังสือ บทความ การร่วมงานกับองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

พระประวัติ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้ารมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเจิม ดิศกุล ประสูติเมื่อวันศุกร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2466 จนเมื่อพระชันษาได้ 1 เดือน หม่อมเจิมจึงได้ถวายแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา ตามที่ได้ทรงเคยขอไว้ตั้งแต่ที่หม่อมเจิมมีครรภ์ กระทั่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา สิ้นพระชนม์ลง จึงกลับมาประทับที่วังวรดิศตามเดิมเมื่อพระชันษาได้ 11 ปี

ด้านการศึกษา ทรงสำเร็จการศึกษาด้านอักษรศาสตร์จากจุฬาลงกรร์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2486 จากนั้นในปี พ.ศ. 2491 ทรงได้รับทุนจากบริติชเคาน์ซิลให้เสด็จไปทอดพระเนตรงานด้านการพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี ณ ประเทศอังกฤษ แล้วจึงตั้งพระทัยที่จะศึกษาต่อด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีที่โรงเรียนลูฟ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษา และจะทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่อังกฤษ แต่ยังมิทันสำเร็จก็มีเหตุให้เสด็จกลับเมืองไทยก่อน ในปี พ.ศ.2496

ภายหลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว ทรงเข้าทำงานในกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และย้ายไปเป็นหัวหน้าแผนกหอสมุดดำรงราชานุภาพ สังกัดกรมศิลปากร จนกระทั่งทรงศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศและเสด็จกลับไทยแล้ว ก็ยังทรงปฏิบัติงานในกรมศิลปากรอยู่ แต่ย้ายมาประจำตำแหน่งภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้มักจะทรงเป็นวิทยากร ถวายการนำชม และทรงนำชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยแด่แขกคนสำคัญของบ้านเมือง ทั้งพระประมุขและประมุขของชาติต่าง ๆ ที่มาเยือนประเทศไทยโดยตลอด

ระหว่างที่ทรงเป็นภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็ทรงสอนนักศึกษาของคณะโบราณคดี และ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วประเทศด้วย โดยทรงวางรากฐานการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี ให้กับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยหลักสูตรการศึกษาเป็นเช่นเดียวกับที่ทรงได้รับการศึกษามาจากประเทศ ทรงนิพนธ์ตำราทางวิชาการ หนังสือนำชม หนังสือทรงแปลจากภาษาต่างประเทศ หนังสือที่ทรงชำระใหม่ หนังสือรวมบทความ บทความวิชาการที่ตีพิมพ์ลงในวารสารต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ จำนวนหลายเรื่อง เช่น เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย ศิลปะอินเดีย ศิลปะลังกา ชวา ขอม เที่ยวเมืองลังกา ศิลปะอินโดนีเซียสมัยโบราณ ประติมากรรมขอม ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม ศิลปะในประเทศไทย เป็นต้น ต่อมาภายหลังจึงทรงโอนย้ายมาเป็นศาสตราจารย์ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อีกทั้งทรงดำรงตำแหน่งทั้งทางด้านบริหาร จนเกษียณอายุราชการในปี 2529 แต่ก็ยังคงเสด็จเข้ามาสอนที่คณะโบราณคดีอยู่เสมอจนประชวร ในปี 2540 นอกจากนี้ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ภายใต้องค์การรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SPAFA และ คณะกรรมการต่าง ๆ ของกรมศิลปากรอยู่ตลอด

ภายหลังจากที่ทรงเกษียณอายุราชการแล้วและประชวรด้วยโรคพระหทัย ซึ่งทรงได้รับการผ่าตัดแล้ว แต่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ก็ยังทรงทำงานอยู่เรื่อยมา ทั้งงานสอนในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และการเป็นคณะกรรมการต่าง ๆ ของทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี ตามปรกติ กระทั่งวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ทรงลื่นล้มในห้องสรง และประชวรทรุดลงตามลำดับ จนสิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 สิริพระชันษาได้ 80 ปี

ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะภัณฑารักษ์

แม้งานด้านพิพิธภัณฑ์ในสังคมไทยจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าจ้าอยู่หัว แต่พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะสำหรับประชาชนอย่างกว้างขวาง อาจกล่าวได้ว่าเพิ่งเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในราวปลายทศวรรษ 2470 และมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ในช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มมีแนวคิดจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายแห่งให้กระจายตัวไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจาก หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่ทรงกล่าวถึงความสำคัญของการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามท้องถิ่นต่าง ๆ ไว้ว่า

“...สำหรับพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นนั้น ถ้าเป็นไปได้ เห็นสมควรจัดตั้งตามหัวเมืองที่สำคัญในปัจจุบัน และหัวเมืองที่เคยเป็นที่ตั้งที่สำคัญในสมัยก่อน...ถ้าจัดได้ดีจะน่าชมมาก ดังพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ หลายแห่งในทวีปยุโรป...การจัดพิพิธภัณฑ์ในท้องที่เหล่านี้มีประโยชน์มากในการทำให้ประชาชนมีความภาคภูมิรักชาติยิ่งขึ้น และยังอาจช่วยนำให้พากันดูแลเอาใจใส่รักษาโบราณวัตถุสถานในท้องถิ่นของตนเอง...”

นอกจากนี้ ยังทรงให้ความสำคัญกับวิธีการจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความสะดวกของผู้เข้าชม การจัดแสดงที่เข้าใจง่าย เส้นทางเดินที่ไม่สับสน และไม่เป็นการจัดแสดงที่ดูเป็นคลังเก็บโบราณวัตถุเช่นในอดีต ที่สำคัญคือ ในส่วนของการออกแบบโครงเรื่องในการจัดแสดง ทรงแสดงทัศนะที่ชัดเจนว่าควรจัดแสดงโดยแบ่งโบราณวัตถุออกเป็นยุคสมัยทางศิลปะที่มีการศึกษาค้นคว้าแล้วตามหลักวิชาการ ดังตัวอย่างเมื่อทรงกล่าวถึงการปรับปรุงการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่จะมีการสร้างอาคารจัดแสดงขึ้นใหม่ในปลายทศวรรษ 2490 พระองค์ทรงให้ความเห็นไว้ว่า

“...พิพิธภัณฑ์ที่สร้างใหม่นี้อาจเรียกชื่อได้ว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยและศิลปะปลายบุรพทิศ (Thai and Far Eastern Art Museum)...พิพิธภัณฑ์นี้อาจสร้างได้เป็น 2 ชั้น คือ ชั้นล่างเป็นศิลปะไทย ชั้นบนเป็นศิลปะปลายบุรพทิศ ชั้นล่างนั้นสมควรแบ่งเป็น 12 ห้อง หรือจะให้น้อยกว่านั้นแต่ห้องใหญ่ขึ้นก็ได้ เพื่อจัดตั้งศิลปวัตถุยุคต่างๆ ในประเทศไทย คือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ของต่างประเทศที่พบในเมืองไทย สมัยก่อนขอม สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์...”

หรือในคราวจัดพิพิธภัณฑ์ที่ไชยา ทรงรับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบการจัดแสดงด้วยพระองค์เอง ซึ่งมีหลักฐานบันทึกรูปแบบและวิธีการจัดแสดงตามแนวทางของพระองค์เอาไว้ว่า

“...การวางวัตถุเราใช้ระดับสายตาเป็นเกณฑ์ ซึ่งจะไม่เกิดขัดนัยน์ตาแก่ผู้ชม สิ่งของที่จัดตั้งวางอย่างได้ระเบียบ...การเดินเข้าชมหลังที่สองนี้มีทางเข้าทางหนึ่งและทางออกทางหนึ่ง ผู้ชมจะไม่เกิดงงในการเดินชมสิ่งของ หรือไม่เกิดเดินหลงไปหลงมา...และนอกจากนี้ผู้ชมจะไม่รู้สึกเบื่อในการเดินชม ผู้ชมจะเข้าใจลำดับสมัยศิลปวัตถุในประเทศไทยได้เอง ท่านอาจารย์ (หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ-ผู้เขียน) ได้ทรงจัดพระพุทธรูปไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ตามสมัยเรียงตามลำดับ คือสมัยคันธารราฐ, ปาละเสนะ, ศรีวิชัย, ลพบุรี, สุโขทัย, อู่ทองสมัยที่ 1,2 และ 3, อยุธยา, และรัตนโกสินทร์...”

นอกจากตัวอย่างของทั้ง 2 แห่งข้างต้น หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ยังได้เข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญต่อการออกแบบการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอีกมากมาย ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดคือพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งต่อการศึกษาและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของสังคมไทย และพระกรณียกิจด้านนี้ก็ได้กลายเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้เกี่ยวข้องสานต่อแนวคิดในการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอีกหลายแห่งตามมา

อาจกล่าวได้ว่า หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเป็นภัณฑารักษ์รุ่นบุกเบิก ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านทางรูปแบบและเนื้อหาการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ตามระบบสมัยใหม่ของไทย ทรงใส่พระทัยในงานการออกแบบเพื่อให้ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจโบราณวัตถุได้ง่ายผ่านการแบ่งหมวดหมู่การจัดแสดงตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่ทรงวางแนวทางและรากฐานการจัดแสดงเช่นนี้ให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกือบทุกแห่งในสังคมไทย ซึ่งพระปรีชาในด้านนี้ยังคงได้รับการสืบทอดอย่างมั่นคง เป็นหนึ่งแนวทางกระแสหลักในการจัดแสดงโบราณวัตถุของสังคมไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน

(ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะนักวิชาการ

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงทำหน้าที่นักวิชาการในหลากหลายมิติ นอกจากจะทรงนิพนธ์และเรียบเรียงหนังสือและตำราทางประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออกไว้มากมายหลายเล่มแล้ว ยังทรงนิพนธ์และแปลบทความทางวิชาการจากภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยไว้อีกเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บทความทางวิชาการของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่พิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารต่าง ๆ โดยเฉพาะ วารสารศิลปากร กลับเป็นผลงานทางวิชาการที่สำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี โดยเฉพาะบทความปริทัศน์ (Review Article) ที่แสดงให้เห็นประเด็นโต้แย้งทางวิชาการ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ทั้งทางกว้างและทางลึกอย่างมีหลักการของนักวิชาการผู้รอบรู้ทั้งหลักทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ทั้งมีประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานจากการศึกษางานศิลปะ ณ สถานที่จริง

ผลงานทางวิชาการในอีกมิติหนึ่งที่สำคัญมากต่อการปกป้องโบราณวัตถุอันเป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมอันมีค่ายิ่งของชาติ นั่นคือ บทความที่ให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุของชาติที่ถูกโจรกรรมและลักลอบนำออกไปนอกประเทศไทย นำไปขายในตลาดมืด และตกไปอยู่ในความครอบครองของชาวต่างชาติ ดังเช่นกรณีของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่หายไปจากปราสาทพนมรุ้ง และไปปรากฏใน “The Art Institute of Chicago” เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา นอกจาก ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล จะทรงนิพนธ์เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังทรงมีหนังสือแจ้งไปยังอธิบดีกรมศิลปากร ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 และทรงแนะนำให้กรมศิลปากรติดต่อประสานเพื่อทวงคืนทับหลังกลับคืนมาด้วย หลังจากการเรียกร้องทวงคืนเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จึงได้กลับคืนมาสู่มาตุภูมิ หลังจากถูกโจรกรรมไปนานกว่า 30 ปี

การเดินทางไปสำรวจและให้ความรู้แก่นักศึกษาโบราณคดีตามแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ ก็นับเป็นอีกมิติหนึ่งที่สำคัญในฐานะนักวิชาการของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ดังเช่น การนำนักศึกษาคณะโบราณคดีและคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางไปสำรวจและบูรณะปราสาทหินเขาพระวิหารร่วมกับ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เมื่อปลายปี พ.ศ. 2502

ถึงแม้การทำงานในฐานะนักวิชาการในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านข้อมูลและหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดี หรือจากหลักฐานเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ แต่ท่านก็ยังทรงมุ่งมั่นและตั้งพระทัยในการทำหน้าที่นักวิชาการให้ดีที่สุด อีกทั้งยังทรงตระหนักดีถึงข้อจำกัดของนักวิชาการยุคบุกเบิกของท่าน ดังที่ได้ทรงปรารภไว้ในคำนำของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” ที่พิมพ์ครั้งแรกไว้ ดังนี้ วิชาโบราณคดีเป็นวิชาที่ไม่ยุติ เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ยังคงฝังจมอยู่ใต้ดิน จำต้องขุดค้นขึ้นมาพิสูจน์กัน เหตุนั้นบทความที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้ ต่อไปอาจผิดพลาดบ้างหรือผิดพลาดทั้งหมดก็ได้ เป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีหรือท่านที่สนใจในวิชาโบราณคดีจะต้องช่วยกันสอบค้นให้ได้ความจริงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในเวลาต่อไป

(รศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะมัคคุเทศก์

บทบาทหนึ่งของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล หรือ ท่านอาจารย์ คือ มัคคุเทศก์ นอกจากได้เคยถวายการนำชมแด่พระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรีแล้ว ท่านอาจารย์ยังเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ถวายการนำชมแด่พระราชอาคันตุกะที่เป็นพระประมุข ประมุข และผู้นำของชาติต่างๆอยู่หลายครั้ง เช่น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร, สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 9 แห่งเดนมาร์กและไอซ์แลนด์, สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น และนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งสร้างความพอพระราชหฤทัยและความประทับใจให้แก่พระราชอาคันตุกะเป็นอย่างมาก โดยในครั้งที่ท่านอาจารย์ทรงนำชมถวายแด่สมเด็จพระราชินีอิงกริด ในสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 9 แห่งเดนมาร์คและไอซ์แลนด์นั้น วันสุดท้ายที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ โดยทรงมอบหมายให้ท่านอาจารย์เป็นผู้ถวายการนำชมเพียงท่านเดียว

นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ให้กับกิจกรรมทัศนศึกษา “โบราณคดีสัญจร” จัดโดยนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย กิจกรรมดังกล่าวมีขึ้นเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 โดยพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปทัศนศึกษาแหล่งโบราณคดีในจังหวัดอุดรธานี สกลนคร และนครพนม รายได้จากกิจกรรมนี้นำไปเป็นทุนการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษา และเป็นจุดเริ่มต้นของทุนการศึกษาโบราณคดีทัศนาจรด้วย ทั้งนี้กิจกรรมโบราณคดีสัญจรกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาและผู้เข้าร่วมโครงการหลายท่านที่จะดำเนินรอยตามท่านอาจารย์ในฐานะมัคคุเทศก์ด้วย เช่น คุณไพรัตน์ สูงกิจบูลย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท สวัสดีฮอลิเดย์ จำกัด ซึ่งคุณไพรัตน์และเพื่อน ๆ ผู้ร่วมก่อตั้งได้กราบทูลเชิญท่านอาจารย์เป็นองค์ประธานที่ปรึกษาของบริษัท

การเป็นมัคคุเทศก์ในหลากหลายโอกาส นอกเหนือจากภารกิจที่ทรงได้รับมอบหมายแล้ว ท่านอาจารย์ยังทรงเล็งเห็นความสำคัญของมัคคุเทศก์ที่จะทำให้ความรู้ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะแพร่หลายสู่บุคคลทั่วไป และยังทรงเห็นว่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรักประเทศชาติด้วย

ด้วยการให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่านอาจารย์ทรงมีความคิดล้ำสมัยในการสนับสนุนให้จัดกิจกรรม “แสงและเสียง” ในพื้นที่โบราณสถาน เพื่อให้ประชาชนสนใจเยี่ยมชมโบราณสถานและเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2515 ท่านอาจารย์ทรงทำจดหมายถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยเนื้อความในจดหมายระบุว่า

“...เรื่อง “แสงและเสียง” ที่จะจัดทำในประเทศไทยนี้ ผมเห็นว่าถ้าทำได้ ก็คงจะเป็นการดี เพราะเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ อาจก่อให้ประชาชนไทยมีความภาคภูมิใจและรักชาติยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการดึงดูนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศด้วย...การเลือกสถานที่ควรเลือกที่มีเรื่องราวตื่นเต้นพอสมควร เพื่อเร้าใจผู้ดูประกอบ เช่น...ถ้าป็นที่พระนครศรีอยุธยา ก็ต้องมีตอนเสียกรุง ถ้าเป็นที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ก็ต้องมีตอนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต...”

หลักฐานชิ้นนี้แสดงให้เห็นชัดว่าท่านอาจารย์ทรงให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวในฐานะเครื่องมือสร้างความรักชาติและพร้อมเปิดรับวิธีการใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งความคิดดังกล่าวถูกนำมาปฎิบัติจริงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 ที่วัดอรุณราชวราราม และขยายตัวต่อเนื่องจนกลายเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในการท่องเที่ยวโบราณสถานสืบมาจนถึงปัจจุบัน

(รศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช