Showing 475 results

Archival description
Print preview View:

345 results with digital objects Show results with digital objects

ศิลาจารึกเกี่ยวกับอาณาจักรศรีจานาศะ

ได้ค้นพบแผ่นศิลามีจารึกสองด้านอยู่ในเนินดินใกล้กับโบสถ์พราหมณ์ หรือเทวสถานทางทิศตะวันออกของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา จารึกสูงประมาณ 45 เซนติเมตร กว้าง 22 เซนติเมตร ด้านแรกมีจารึกภาษาสันสกฤต 18 บรรทัด แต่งเป็นโศลกทั้งหมด ยกเว้นบทที่ 6 จารึกเริ่มต้นด้วยการสรรเสริญ 2 บท บทแรกสรรเสริญพระศังกร (ศิวะ) บทที่ 2 สรรเสริญนางปารพตี ต่อจากนั้นจึงกล่าวถึงรายพระนามพระราชแห่งอณาจักรจานาศปุระ จารึกนี้สร้างขึ้นเพื่อฉลองการสร้างพระรูปพระชนนี เป็นพระเทวีคือชายาของพระศิวะ เมื่อศักราช 859 (พ.ศ. 1480) โดยที่ราชวงศ์นี้ได้ปรากฏขึ้นในศิลาจารึกหลักนี้เป็นครั้งแรก และแตกต่างไปจากราชวงค์ที่ปกครองอาณาจักรขอมอยู่ในขณะนั้น สำหรับอาณาจักรศรีจานาศะหรือจานาศปุระแห่งนี้ ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่ามีอาณาเขตกว้างขวางแค่ไหน และมีราชธานีอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา หรือเมืองอื่น ๆ เป็นต้นว่า เมืองลพบุรี.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

ศิลาจารึกบ่ออีกา

บ่ออีกา ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองราชสีมาเก่า โบราณวัตถุที่ค้นพบได้แก่ จารึกศิลาทรายสีแดง ขนาด 1.10 x 0.56 x 0.25 เมตร หลักหนึ่ง ซึ่งแตกออกเป็น 2 ชิ้น แต่ละด้านมีจารึกภาษาสันสกฤต ใช้ตัวอักษรสมัยก่อนสร้างเมืองพระนครในประเทศกัมพูชา จารึกที่เก่าที่สุดประกอบด้วยจารึก 4 บรรทัด ประกอบเป็นคาถา “สรัคธรา” สลักด้วยตัวอักษรขนาดค่อนข้างใหญ่ ข้อความในจารึกที่อ่านได้เกี่ยวกับพุทธศาสนา และกล่าวถึงพระราชาแห่งอาณาจักรศรีจนาศะทรงอุทิศปศุสัตว์และทาสทั้งชายหญิงถวายแด่พระภิษุสงฆ์ จารึกด้านที่ 2 เป็นภาษาสันสกฤต 12 บรรทัด และจารึกภาษาขอม 5 บรรทัด กล่าวถึงการสรรเสริญพระอิศวรก่อนกล่าวถึงอังศเทพ หลักฐานสำคัญของจารึกหลักนี้ก็คือ ทำให้ทราบว่าใน พ.ศ. 1411 ดินแดนจังหวัดนครราชสีมา อาจเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรโบราณชื่อ จนาศะ ซึ่งยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชา.

ฉ่ำ ทองคำวรรณ

ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

เนื้อบทความเป็นการย่อใจความจากเรื่องจารึกปราสาทพระขรรค์ในบริเวณเมืองพระนคร (La stele du Prah Khan d’Ankor) กล่าวถึง นาย ม. แกลซ (M. Glaize) ได้ค้นพบจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ในบริเวณเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 เป็นศิลาจารึกแท่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีลวดลายบัวอยู่บนฐาน และมีลายดอกบัวสลักอย่างคร่าว ๆ บนยอด สูง 1.85 เมตร กว้างด้านละ 58 เซนติเมตร มีจารึกอยู่ 72 บรรทัด เป็นภาษาสันสกฤต มีทั้งสิ้น 179 บท แต่งเป็นมาตราฉันท์ต่าง ๆ กัน 7 มาตรา ข้อความส่วนใหญ่กล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งนโยบายการเมือง พระราชกรณียกิจ การสร้างเมืองชัยศรี การสงคราม การสร้างพระพุทธรูปและประติมากรรมอื่น ๆ การเก็บภาษี การก่อสร้างศาสนสถาน การบำเพ็ญกุศล เฉพาะอย่างยิ่งจารึกตั้งแต่บทที่ 112-116 เกี่ยวข้องกับการแผ่อานุภาพของพระองค์ ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นภาคกลางของประเทศไทยหรือไม่ ในจารึกบทสุดท้ายกล่าวว่า จารึกทั้งหมดนี้ผู้ประพันธ์คือ เจ้าชายวีรกุมาร โอรสแห่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพระนางราเชนทรเทวี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในต้นพุทธศตวรรษที่ 18 การศึกษาภาษาสันสกฤตในราชสำนัก ณ เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา อยู่ในขั้นสูงมาก.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

ศิลาจารึกภาษามอญ ที่เมืองลำพูน หลักที่ 1

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเรียบเรียงจากบทความของศาสตราจารย์ฮัลลิเดย์ (R. Halliday) ซึ่งแรกตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส ความว่า ได้พบศิลาจารึกภาษามอญ 7 หลัก ที่เมืองลำพูน เดิมคืออาณาจักรหริภุญชัยในสมัยโบราณและบริเวณใกล้เคียง ดังนี้ วัดดอน (วัดดอนแก้ว) วัดกู่กุด วัดแสนข้าวห่อ วัดมหาวัน วัดบ้านหลุย (วัดบ้านหลวย) และวัดต้นแก้ว (จารึกวัดดอนแก้ว ศิลาจารึกเลขทะเบียน ลพ. 4 ไม่ได้มีการแปลในบทความนี้) ปัจจุบันรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย ตัวอักษรที่ใช้จารึกภาษามอญนั้นรูปร่างของตัวอักษรมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรที่ใช้ในจารึกภาษามอญในรัชกาลของพระเจ้ากยันซิตถา ที่เมืองพุกาม ประเทศพม่า (พ.ศ. 1628 - 1656) แต่จารึกภาษามอญที่เมืองลำพูนจารึกขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 และใกล้เคียงกับภาษามอญในสมัยปัจจุบันมากกว่า ทั้งมีคำหลายคำที่ไม่เคยค้นพบในจารึกภาษามอญโบราณในประเทศพม่า ศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลำพูน หลักที่ 1 จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ1 (วัดดอนแก้ว) จารึกจากวัดดอน (ศิลาจารึกเลขทะเบียน ลพ.1) ขุดค้นพบที่วัดดอน เมื่อ พ.ศ. 2460 จารึกจำนวน 2 ด้าน ทั้งหมด 35 บรรทัด เนื้อหากล่าวถึง พระเจ้าสววาธิสิทธิ ทรงสถาปนาวัดเชตวันเมื่อพระชนมายุได้ 26 พรรษา ต่อมา เมื่อพระชนมายุได้ 31 พรรษา โปรดให้สร้างกุฏิ และเสนาสนะแด่ภิกษุสงฆ์ อีกทั้งจารพระไตรปิฎกไว้เป็นจำนวนมาก มีการสร้างพระเจดีย์ 3 องค์ ทางด้านหน้าของวัดเชตวัน โดยพระเจ้าสววาธิสิทธิ พระชายา 2 พระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ และพระโอรส โดยมีการกล่าวถึงบริเวณที่ตั้งของเจดีย์ ซึ่งเรียงกันจากทิศตะวันออกไปหาทิศตะวันตก และการผนวชของพระเจ้าสววาธิสิทธิ และพระราชโอรส 2 พระองค์ ซึ่งมีพระนามว่า มหานาม และ กัจจายะ ตามลำดับ โดยพระมหาเถระนามว่า ราชคุรุ เป็นประธานในการผนวช ในขณะนั้นพระเจ้าสววาธิสิทธิทรงมีพระชนมายุได้ 32 พรรษา

Halliday, Robert

ศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลำพูน หลักที่ 2, 3 และ 4

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเรียบเรียงจากบทความของศาสตราจารย์ฮัลลิเดย์ (R. Halliday) ซึ่งแรกตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส ความว่า ศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลำพูน หลักที่ 2 จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ1 (วัดกู่กุด) (ศิลาจารึกเลขทะเบียน ลพ. 2) จารึกจำนวน 2 ด้าน ทั้งหมด 38 บรรทัด
เนื้อหากล่าวถึง พระเจ้าสวาธิสิทธิโปรดให้มีการปฏิสังขรณ์พระรัตนเจดีย์ซึ่งพังทลายลงมาเนื่องจากแผ่นดินไหว มีการกล่าวถึงการสร้างบ่อน้ำในอารามโดยพระราชมารดา การถวายข้าพระ กัลปนาที่ดิน และสิ่งของต่าง ๆ ศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลำพูน หลักที่ 3 จารึกวัดแสนข้าวห่อ (ตะจุ๊มหาเถร) (ศิลาจารึกเลขทะเบียน ลพ. 7) จารึกจำนวน 1 ด้าน ทั้งหมด 14 บรรทัด บริเวณมุมบนของจารึกหักหายไป เนื้อหากล่าวถึง ตชุมหาเถรแห่งเมืองหริภุญไชย ได้สร้างสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 10 องค์ ปลูกต้นมหาโพธิ์ และต้นมะพร้าว สร้างฉัตร ยอดพระไตรปิฎก คัมภีร์พระปริตต์ พร้อมที่เก็บคัมภีร์ รวมทั้งสร้างกำแพงและถวายวัว 1 คู่ ศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลำพูน หลักที่ 4 จารึกอาณาจักรปุนไชย วัดกู่กุดหรือจามเทวีหลักที่ 2 (ศิลาจารึกเลขทะเบียน ลพ. 5) จารึกจำนวน 1 ด้าน ทั้งหมด 8 บรรทัด เนื้อหากล่าวถึงกษัตริย์ผู้ครองหริภุญชัย และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา

Halliday, Robert

ศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลำพูน หลักที่ 5 และ 6

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเรียบเรียงจากบทความของศาสตราจารย์ฮัลลิเดย์ (R. Halliday) - ศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลำพูน หลักที่ 5 จารึกวัดมหาวัน (ศิลาจารึกเลขทะเบียน ลพ. 3) จารึกจำนวน 4 ด้าน (แก้ไขในบทความจากเดิม 3 ด้าน) ทั้งหมด 85 บรรทัด เนื้อหากล่าวถึง ความสัตย์ที่แท้จริง คือ จรมตฺต ในผลงานของท่าน (กษัตริย์) ผู้บำเพ็ญ พระราชกุศลในพระพุทธศาสนา การสร้างพระเจดีย์ พระพุทธรูปทั้ง 3 กุฏิ คูหา ฉัตร และการถวายข้าพระ กล่าวถึงราชตระกูลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการนี้ (ส่วนใหญ่เป็นคำวิสามานยนาม) และการถวายสิ่งของแด่วัดและพระสงฆ์ ศิลาจารึกภาษามอญที่เมืองลำพูน หลักที่ 6 จารึกวัดบ้านหลวย (จารึกวัดบ้านหลุย) (ศิลาจารึกเลขทะเบียน ลพ. 6) จารึกจำนวน 2 ด้าน ทั้งหมด 32 บรรทัด เนื้อหากล่าวถึงการบำเพ็ญกุศลในพุทธศาสนา เช่น การอุทิศข้าพระสำหรับบำรุงรักษาวัดและสระน้ำ การถวายสิ่งของต่าง ๆ เช่นหม้อน้ำ, ฉัตรและเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมทั้งกล่าวถึงผู้สร้างเจดีย์และคูหา

Halliday, Robert

ศิลาจารึกโวคาญ

ศิลาจารึกนี้เป็นศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่เก่าที่สุดที่ค้นพบในแหลมอินโดจีนและหมู่เกาะอินโดนีเซีย ค้นพบที่หมู่บ้านโวคาญ เขตเมืองญาตรัง เป็นจารึกที่สลักบนหินแกรนิต สูงกว่า 2.70 เมตร ตัดเป็นเสารูปสี่เหลี่ยมกว้าง 72 เซนติเมตร หนา 67 เซนติเมตร ตัวอักษรที่จารึกมีขนาดใหญ่ความสูงราว 4 เซนติเมตร และคล้ายคลึงกับตัวอักษรบนจารึกของรุทรทามัน (Rudradaman) ที่ คิรนรร (Girnar) ของวาสิษฐีบุตร (Vasisthiputra) ที่กันเหริ (Kanheri) ซึ่งมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 7-8 ศาสตราจารย์ ฟิลลิโอซาต์ อธิบายว่า แม้จะจารึกในภาษาสันสกฤต แต่ต้นเค้าเดิมคงมาจากประเพณีทมิฬ และคงไม่ใช่จารึกในพุทธศาสนา แต่แสดงประเพณีตามแบบศาสนาฮินดู และสรุปว่า พระเจ้าศรีมาระอาจเป็นพระราชาในราชวงศ์ปาณฑยะทางประเทศอินเดียภาคใต้ ตามตำแหน่ง “มารัน” ในภาษาทมิฬ แต่พระองค์อาจไม่ได้เสด็จมาครองราชย์ในอาณาจักรทางแหลมอินโดจีน แต่ผู้ปกครองอาณาจักรอาจเป็นเพียงเชื้อสายของพระองค์.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

อดีตรับใช้ปัจจุบัน จีนคอมมิวนิสต์มองวิชาโบราณคดีอย่างไร

ชาวจีนในปัจจุบันไม่สนใจประวัติศาสตร์ดังแต่ก่อน และหันมาสนใจกับอนาคตมากกว่า แต่ชาวจีนยังคงหวังให้อดีตรับใช้ปัจจุบัน อย่างไรก็ดี นักวิชาการทั้งรุ่นเก่าและใหม่ในวงวิชาการด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยังคงสนใจศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการศึกษาบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านโบราณคดีของจีนที่คัดเลือก 3 ชื่อ แสดงให้เห็นว่า บทความส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของจีนสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่15 และข้อเขียนในวารสารทั้ง 3 ฉบับส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นความพยายามที่จะตีความประวัติศาสตร์จากหลักฐานโบราณวัตถุและจารึกที่ได้ขุดค้นพบ.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

อาณาจักรขอม

บทความนี้มาจากหนังสือเรื่องประเทศที่ได้รับอิทธิพลอินเดียในแหลมอินโดจีน และหมู่เกาะอินโดนีเซีย ของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เริ่มเกี่ยวกับอาณาจักรขอมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เป็นกษัตริย์พระองค์แรก พระองค์ได้เสด็จกลับมาจากชวา เพื่อมาครองราชย์ที่เมืองอินทรปุระ และย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองหริหราลัย ศิลปะขอมสมัยกุเลนในรัชกาลของพระองค์เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปะขอมสมัยก่อนสร้างเมืองพระนคร และศิลปะสมัยเมืองพระนคร ได้รับอิทธิพลทั้งจากศิลปะจามและศิลปะชวา ลำดับกษัตริย์ขอมที่ครองราชย์ต่อมา คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 3 พระเจ้าอินทรวรมัน พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 พระเจ้าอีศานวรมันที่ 2 พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 พระเจ้าหรรษวรมันที่ 2 พระเจ้าราเชนทรวรมัน พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ซึ่งรัชกาลของพระเจ้าอินทรวรมันจนถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 มีระยะเวลากว่า 100 ปี และอาจนับได้ว่าเป็นระยะที่วัฒนธรรมขอมเจริญสูงสุดอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเป็นรัชกาลของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 1 พระเจ้าชัยวีรวรมัน พระเจ้าสุริยวรมันที 1 พระเจ้าอุทัยทิตย วรมันที่ 2 พระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 พระเจ้าธรณีนทรวรมันที่ 1 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 พระเจ้าธรณีนทรวรมันที่ 2 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 พระเจ้าศรีนทรวรมัน และพระเจ้าชัยวรมาธิปรเมศวร ซึ่งเป็นพระราชาองค์สุดท้ายที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกของขอมที่ปราสาทนครวัด.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

อาณาจักรเจนละ

บทความนี้มาจากหนังสือเรื่อง ประเทศที่ได้รับอิทธิพลอินเดียในแหลมอินโดจีน และหมู่เกาะอินโดนีเซีย (Les Etats Hindouises d’Indochine et d’Indonesie) ของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ศูนย์กลางดั้งเดิมของอาณาจักรเจนละ คงตั้งอยู่ทางตอนกลางของลุ่มแม่น้ำโขงแถบเมืองจำปาศักดิ์ในประเทศลาวปัจจุบัน อาณาจักรเจนละเป็นอาณาจักรขอมรุ่นต้นที่เคยเป็นประเทศราชต่ออาณาจักรฟูนัน ตั้งแต่สมัยพระเจ้าภววรมันที่1 ลงมาจนถึงพระเจ้าชัยวรมันที่1 เป็นระยะที่แผ่ขยายอำนาจลงไปทางทิศใต้แถบปากแม่น้ำโขง และทิศตะวันตกแถบทะเลสาบใหญ่ อันเคยเป็นดินแดนของอาณาจักรฟูนันมาก่อน ต่อมาหลัง พ.ศ. 1249 อาณาจักรเจนละได้แบ่งแยกเป็น 2 แคว้น คือ ทางภาคเหนือหลายเป็นแคว้นเจนละบก ทางภาคใต้กลายเป็นแคว้นเจนละน้ำ ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 แห่งเมืองศัมภุปุระ (สมโบร์) ได้ทรงรวบรวมแคว้นเจนละบกและแคว้นเจนละน้ำเข้าด้วยกันเป็นการเริ่มต้นอาณาจักรขอมอย่างแท้จริง ใน พ.ศ. 1345.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

Results 411 to 420 of 475