Showing 475 results

Archival description
Print preview View:

345 results with digital objects Show results with digital objects

วีดิทัศน์สัมภาษณ์ คุณเพลินพิศ กำราญ

นางสาวเพลินพิศ กำราญ จบการศึกษาจากคณะโบราณคดีรุ่นที่ 9 เมื่อปีพุทธศักราช 2506 ช่วงแรกของการศึกษา ในรุ่นของคุณเพลินพิศเรียกท่านอาจารย์ว่าอาจารย์ท่านชาย ก่อนเปลี่ยนเป็นเรียกท่านอาจารย์ในภายหลัง คุณเพลินพิศกล่าวว่าการสอนสั่งของท่านอาจารย์ใช้ภาพประกอบและคำช่วยที่ทำให้จดจำบทเรียนได้ง่าย ท่านเป็นผู้มีเมตตาต่อนักศึกษา คอยสอนสั่งโดยไม่ถือตนทั้งในมหาวิทยาลัยหรือเวลาออกไปทำกิจกรรมภาคสนาม ให้ความช่วยเหลืออุปการะคุณผู้อื่นอย่างไม่แบ่งแยก

“ มีรุ่นพี่ผู้ชายคนหนึ่ง เขามาจากสุโขทัย ท่านก็มีพระเมตตา ตอนแรกท่านไม่ทราบว่าเขาอาศัยอยู่ที่ไหน แต่ตอนหลังเมื่อทราบว่าเป็นเด็กต่างจังหวัด ท่านก็ไปฝากให้อาศัยอยู่ที่วังสวนผักกาด ฝึกเป็นมัคคุเทศน์ แล้วก็ส่งไปเรียนเป็นกิจลักษณะ ก็เลยคิดว่า เออ ท่านมีพระเมตตานะ ”

“ การไปขุดค้นที่อู่ทอง ท่านอาจารย์ก็ไปอยู่กับพวกเราระหว่างการขุดค้น ตอนกลางคืนที่พักหลังจากการขุดค้น ที่อู่ทองจะมีตลาดกลางคืน เราก็ไปดูหนัง แล้วก็มีขนมน้ำแข็งไสสมัยก่อน ก่อนดูหนังพวกเราจะต้องไปทานขนมน้ำแข็งไส ถ้าท่านอาจารย์ไปท่านอาจารย์ก็จะบอกวันนี้ฉันเลี้ยง ใครที่ได้รับเลี้ยงก็รู้สึกเป็นหน้าเป็นตา คุยไปหลายวัน ประทับใจท่านมาก ”

“ ท่านอาจารย์จะสอนให้รู้ในสิ่งที่เรียน แล้วก็จดจำเพื่อเอาไปใช้ในการทำงาน ”

(คลิกรูปภาพเพื่อรับชมวีดิทัศน์สัมภาษณ์)

เพลินพิศ กำราญ

วีดิทัศน์สัมภาษณ์ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ

อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ จบการศึกษาจากคณะโบราณคดีรุ่นที่ 19 แรกเริ่มเดิมทีรู้จักท่านอาจารย์ผ่านผู้เป็นแม่ ซึ่งเคยเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับท่านอาจารย์เมื่อครั้งศึกษาอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้นอาจารย์เผ่าทองศึกษาต่อที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรก็ได้เข้าเรียนกับท่านอาจารย์โดยตรง

ในสมัยเรียน อาจารย์เผ่าทองตั้งใจทำกิจกรรมควบคู่กับเล่าเรียน รับวิชาความรู้และการอบรมสั่งสอนของท่านอาจารย์มาสม่ำเสมอ แม้จบการศึกษามาหลายปีก็ยังคงได้รับพระเมตตา อาจารย์เผ่าทองกล่าวว่าสิ่งที่ท่านอาจารย์ส่งต่อในฐานะครูบาอาจารย์ ตนยังคงระลึกถึงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“ ตอนนั้นท่านเกษียณแล้วก็มาทรงงานอยู่ที่ SPAFA ผมก็เดินทางจากบ้านไปขอเฝ้ากราบพระบาทรับพร จำได้ว่าเอาหน้าผากลงไปบนหลังรองเท้าท่าน ท่านก็ลูบหัวตบหัว ประทานพรให้มีความเจริญรุ่งเรือง ให้ประสบความสำเร็จให้อะไรต่าง ๆ ก็เป็นอะไรที่เราซาบซึ้งมาก ”

“ความเป็นครูอาจารย์ของท่านมันไม่ได้ขาดกันเฉพาะในมหาวิทยาลัย ความเป็นครูบาอาจารย์ของท่านเนี่ยต่อเนื่องกันมาอยู่เสมอ ”

“ ยังใช้วิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ของท่านเนี่ยสอนอยู่ ก็ต้องกราบพระบาทเอาไว้ว่าเป็นพระกรุณาอย่างสูงล้นเกล้าที่ทำให้เรามีอาชีพที่ดี ได้ใช้อาชีพที่ท่านประทานสอนไว้เลี้ยงตัวโดยตรง รวมทั้งได้นำมารับใช้ประเทศชาติ ถ้าไม่มีท่านก็คงไม่มีเราในวันนี้ ไม่มีเราที่จะมานั่งอยู่ตรงนี้ทุกวันนี้ครับ ”

(คลิกรูปภาพเพื่อรับชมวีดิทัศน์สัมภาษณ์)

เผ่าทอง ทองเจือ

วีดิทัศน์สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เข้าศึกษาที่คณะโบราณคดี สาขาภาษาไทย ในปี พ.ศ.2536 แต่ด้วยความสามารถด้านศิลปะไทยที่ปรากฏอย่างเด่นชัด เป็นผลให้ท่านอาจารย์จึงประทานคำแนะนำให้ย้ายมาศึกษาในสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะเมื่อปี พ.ศ. 2537

สำหรับอาจารย์รุ่งโรจน์ การแปลผลางานวิชาการต่างประเทศทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสของท่านอาจารย์ช่วยสร้างรากฐานองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเป็นอย่างมาก

“ ผมรู้จักท่านชายนะ แรก ๆ คืออ่านจากหนังสือตำราพระพุทธเจดีย์สยาม เพราะท่านเป็นคนเขียนเชิงอรรถ พอมาเจอท่านจริง ๆ ท่านเป็นคนอธิบายรู้เรื่อง มีที่มาที่ไป ในเรื่องความจำอย่าไปเถียงกับท่านชาย ท่านจำได้ทั้งหมด ”

“ การศึกษาโบราณคดีกับประวัติศาสตร์ศิลป์เนี่ยมันเปลี่ยนแปลงไปเพราะท่านเอาทฤษฎีวิวัฒนาการมาใช้ ”

“ ท่านชายเป็นจุดเริ่มต้นของผม ”

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะภัณฑารักษ์

แม้งานด้านพิพิธภัณฑ์ในสังคมไทยจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าจ้าอยู่หัว แต่พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะสำหรับประชาชนอย่างกว้างขวาง อาจกล่าวได้ว่าเพิ่งเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในราวปลายทศวรรษ 2470 และมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ในช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มมีแนวคิดจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายแห่งให้กระจายตัวไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจาก หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่ทรงกล่าวถึงความสำคัญของการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามท้องถิ่นต่าง ๆ ไว้ว่า

“...สำหรับพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นนั้น ถ้าเป็นไปได้ เห็นสมควรจัดตั้งตามหัวเมืองที่สำคัญในปัจจุบัน และหัวเมืองที่เคยเป็นที่ตั้งที่สำคัญในสมัยก่อน...ถ้าจัดได้ดีจะน่าชมมาก ดังพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ หลายแห่งในทวีปยุโรป...การจัดพิพิธภัณฑ์ในท้องที่เหล่านี้มีประโยชน์มากในการทำให้ประชาชนมีความภาคภูมิรักชาติยิ่งขึ้น และยังอาจช่วยนำให้พากันดูแลเอาใจใส่รักษาโบราณวัตถุสถานในท้องถิ่นของตนเอง...”

นอกจากนี้ ยังทรงให้ความสำคัญกับวิธีการจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความสะดวกของผู้เข้าชม การจัดแสดงที่เข้าใจง่าย เส้นทางเดินที่ไม่สับสน และไม่เป็นการจัดแสดงที่ดูเป็นคลังเก็บโบราณวัตถุเช่นในอดีต ที่สำคัญคือ ในส่วนของการออกแบบโครงเรื่องในการจัดแสดง ทรงแสดงทัศนะที่ชัดเจนว่าควรจัดแสดงโดยแบ่งโบราณวัตถุออกเป็นยุคสมัยทางศิลปะที่มีการศึกษาค้นคว้าแล้วตามหลักวิชาการ ดังตัวอย่างเมื่อทรงกล่าวถึงการปรับปรุงการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่จะมีการสร้างอาคารจัดแสดงขึ้นใหม่ในปลายทศวรรษ 2490 พระองค์ทรงให้ความเห็นไว้ว่า

“...พิพิธภัณฑ์ที่สร้างใหม่นี้อาจเรียกชื่อได้ว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยและศิลปะปลายบุรพทิศ (Thai and Far Eastern Art Museum)...พิพิธภัณฑ์นี้อาจสร้างได้เป็น 2 ชั้น คือ ชั้นล่างเป็นศิลปะไทย ชั้นบนเป็นศิลปะปลายบุรพทิศ ชั้นล่างนั้นสมควรแบ่งเป็น 12 ห้อง หรือจะให้น้อยกว่านั้นแต่ห้องใหญ่ขึ้นก็ได้ เพื่อจัดตั้งศิลปวัตถุยุคต่างๆ ในประเทศไทย คือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ของต่างประเทศที่พบในเมืองไทย สมัยก่อนขอม สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์...”

หรือในคราวจัดพิพิธภัณฑ์ที่ไชยา ทรงรับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบการจัดแสดงด้วยพระองค์เอง ซึ่งมีหลักฐานบันทึกรูปแบบและวิธีการจัดแสดงตามแนวทางของพระองค์เอาไว้ว่า

“...การวางวัตถุเราใช้ระดับสายตาเป็นเกณฑ์ ซึ่งจะไม่เกิดขัดนัยน์ตาแก่ผู้ชม สิ่งของที่จัดตั้งวางอย่างได้ระเบียบ...การเดินเข้าชมหลังที่สองนี้มีทางเข้าทางหนึ่งและทางออกทางหนึ่ง ผู้ชมจะไม่เกิดงงในการเดินชมสิ่งของ หรือไม่เกิดเดินหลงไปหลงมา...และนอกจากนี้ผู้ชมจะไม่รู้สึกเบื่อในการเดินชม ผู้ชมจะเข้าใจลำดับสมัยศิลปวัตถุในประเทศไทยได้เอง ท่านอาจารย์ (หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ-ผู้เขียน) ได้ทรงจัดพระพุทธรูปไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ตามสมัยเรียงตามลำดับ คือสมัยคันธารราฐ, ปาละเสนะ, ศรีวิชัย, ลพบุรี, สุโขทัย, อู่ทองสมัยที่ 1,2 และ 3, อยุธยา, และรัตนโกสินทร์...”

นอกจากตัวอย่างของทั้ง 2 แห่งข้างต้น หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ยังได้เข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญต่อการออกแบบการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอีกมากมาย ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดคือพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งต่อการศึกษาและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของสังคมไทย และพระกรณียกิจด้านนี้ก็ได้กลายเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้เกี่ยวข้องสานต่อแนวคิดในการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอีกหลายแห่งตามมา

อาจกล่าวได้ว่า หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเป็นภัณฑารักษ์รุ่นบุกเบิก ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านทางรูปแบบและเนื้อหาการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ตามระบบสมัยใหม่ของไทย ทรงใส่พระทัยในงานการออกแบบเพื่อให้ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจโบราณวัตถุได้ง่ายผ่านการแบ่งหมวดหมู่การจัดแสดงตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่ทรงวางแนวทางและรากฐานการจัดแสดงเช่นนี้ให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกือบทุกแห่งในสังคมไทย ซึ่งพระปรีชาในด้านนี้ยังคงได้รับการสืบทอดอย่างมั่นคง เป็นหนึ่งแนวทางกระแสหลักในการจัดแสดงโบราณวัตถุของสังคมไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน

(ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะนักวิชาการ

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงทำหน้าที่นักวิชาการในหลากหลายมิติ นอกจากจะทรงนิพนธ์และเรียบเรียงหนังสือและตำราทางประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออกไว้มากมายหลายเล่มแล้ว ยังทรงนิพนธ์และแปลบทความทางวิชาการจากภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยไว้อีกเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บทความทางวิชาการของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่พิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารต่าง ๆ โดยเฉพาะ วารสารศิลปากร กลับเป็นผลงานทางวิชาการที่สำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี โดยเฉพาะบทความปริทัศน์ (Review Article) ที่แสดงให้เห็นประเด็นโต้แย้งทางวิชาการ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ทั้งทางกว้างและทางลึกอย่างมีหลักการของนักวิชาการผู้รอบรู้ทั้งหลักทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ทั้งมีประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานจากการศึกษางานศิลปะ ณ สถานที่จริง

ผลงานทางวิชาการในอีกมิติหนึ่งที่สำคัญมากต่อการปกป้องโบราณวัตถุอันเป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมอันมีค่ายิ่งของชาติ นั่นคือ บทความที่ให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุของชาติที่ถูกโจรกรรมและลักลอบนำออกไปนอกประเทศไทย นำไปขายในตลาดมืด และตกไปอยู่ในความครอบครองของชาวต่างชาติ ดังเช่นกรณีของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่หายไปจากปราสาทพนมรุ้ง และไปปรากฏใน “The Art Institute of Chicago” เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา นอกจาก ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล จะทรงนิพนธ์เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังทรงมีหนังสือแจ้งไปยังอธิบดีกรมศิลปากร ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 และทรงแนะนำให้กรมศิลปากรติดต่อประสานเพื่อทวงคืนทับหลังกลับคืนมาด้วย หลังจากการเรียกร้องทวงคืนเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จึงได้กลับคืนมาสู่มาตุภูมิ หลังจากถูกโจรกรรมไปนานกว่า 30 ปี

การเดินทางไปสำรวจและให้ความรู้แก่นักศึกษาโบราณคดีตามแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ ก็นับเป็นอีกมิติหนึ่งที่สำคัญในฐานะนักวิชาการของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ดังเช่น การนำนักศึกษาคณะโบราณคดีและคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางไปสำรวจและบูรณะปราสาทหินเขาพระวิหารร่วมกับ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เมื่อปลายปี พ.ศ. 2502

ถึงแม้การทำงานในฐานะนักวิชาการในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านข้อมูลและหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดี หรือจากหลักฐานเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ แต่ท่านก็ยังทรงมุ่งมั่นและตั้งพระทัยในการทำหน้าที่นักวิชาการให้ดีที่สุด อีกทั้งยังทรงตระหนักดีถึงข้อจำกัดของนักวิชาการยุคบุกเบิกของท่าน ดังที่ได้ทรงปรารภไว้ในคำนำของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” ที่พิมพ์ครั้งแรกไว้ ดังนี้ วิชาโบราณคดีเป็นวิชาที่ไม่ยุติ เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ยังคงฝังจมอยู่ใต้ดิน จำต้องขุดค้นขึ้นมาพิสูจน์กัน เหตุนั้นบทความที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้ ต่อไปอาจผิดพลาดบ้างหรือผิดพลาดทั้งหมดก็ได้ เป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีหรือท่านที่สนใจในวิชาโบราณคดีจะต้องช่วยกันสอบค้นให้ได้ความจริงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในเวลาต่อไป

(รศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน

สังเขปหนังสือ ศิลปะอินเดีย

ศิลปะอินเดีย เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศิลปะอินเดียโดยสังเขปตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงหลัง พ.ศ. 1550 โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 สมัย คือ 1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์และแรกเริ่มประวัติศาสตร์ 2. ศิลปะสมัยต้นประวัติศาสตร์หรือศิลปะอินเดียสมัยโบราณ 3. ศิลปะอินเดียสมัยที่ 2 คือ ศิลปะคันธารราฐ มถุรา และอมราวดี 4. ศิลปะอินเดียสมัยที่ 3 คือ ศิลปะสมัยคุปตะ ศิลปะสมัยหลังคุปตะ และศิลปะสมัยปาละ - เสนะ ในแคว้นเบงกอล 5. ศิลปะอินเดียสมัยที่ 4 หลัง พ.ศ. 1550 เนื้อหาตอนต้นของแต่ละสมัยเป็นการให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น ๆ โดยสังเขป ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางรูปแบบ แนวคิด และเนื้อหา ในการสร้างงานศิลปะแห่งยุคสมัยนั้น ศิลปะแต่ละสมัยแยกอธิบายเนื้อหาตามสาขาของศิลปะ อันได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประณีตศิลปะและเทคนิคต่าง ๆ
ท้ายเล่มมีภาพประกอบขาวดำ 101 ภาพ

(ศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน

สังเขปหนังสือ ศิลปะขอม

ศิลปะขอม เป็นหนังสือที่ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะขอมอย่างกว้าง ๆ การกล่าวเกริ่นถึง ประวัติศาสตร์อาณาจักรขอมจากจุดเริ่มต้นสู่ยุคเสื่อมโทรม การนับถือศาสนาของชนชาติขอม และปัญหาเกี่ยวกับตัวเมืองพระนคร ในบทที่ 1-3 เป็นการช่วยปูพื้นความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะขอมในบทต่อไป การวางเนื้อหาหลัก ที่เริ่มจากการกล่าวถึงพัฒนาการทางรูปแบบของสถาปัตยกรรมขอม ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 ในบทที่ 4 จากนั้นจึงบรรยายรายละเอียดของแบบแผนลวดลายส่วนประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรมขอม อันได้แก่ ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู หน้าบัน ประตูหลอก เสาติดกับผนัง ฐาน รวมทั้งภาพสลักเล่าเรื่องราว ประติมากรรมรูปสัตว์ และประติมากรรมรูปมนุษย์ ในบทที่ 5-11 โดยอธิบายแยกตามลำดับแบบอย่างของศิลปะขอม มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการทางรูปแบบของศิลปะขอมผ่านการศึกษาจากการสังเกตระเบียบแบบแผนและรายละเอียดของลวดลายที่แตกต่างกันของศิลปะขอมแต่ละแบบ

ภาคผนวกท้ายเล่มประกอบด้วยตารางแสดงรายการปราสาทขอมที่สำคัญโดยจัดแบ่งตามแบบศิลปะและตารางแสดงลำดับกษัตริย์ขอมในประเทศกัมพูชา รวมทั้งภาพเขียนลายเส้นแสดงประติมากรรมขอมแบบต่าง ๆ 34 ภาพ หนังสือมีภาพประกอบขาวดำในเล่ม 237 ภาพ

(ศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน

สังเขปหนังสือ ศิลปะสมัยลพบุรี

ศิลปะสมัยลพบุรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2547 ซึ่งห่างจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 นานถึง 37 ปี ระหว่างนั้นได้มีการพบหลักฐานใหม่จากการขุดแต่งโบราณสถานขอมในประเทศไทยที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง อีกทั้งยังมีผลงานศึกษาวิจัยของนักวิชาการรุ่นหลัง ซึ่งมีวิธีการและเครื่องมือในการศึกษาที่มีคุณภาพและทันสมัยมากกว่าในอดีต ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับศิลปะสมัยลพบุรีออกมาอีกไม่น้อย จึงทำให้คณะผู้ดูแลรับผิดชอบการจัดพิมพ์หนังสือ “ศิลปะลพบุรี” เห็นควรต้องแก้ไขข้อมูลบางส่วนให้ถูกต้อง รวมทั้งเพิ่มเติมข้อมูลหลักฐานที่มีการค้นพบใหม่ในช่วงเวลา 37 ปีที่ผ่านมาด้วย เพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ดังที่ได้ทรงปรารภไว้ในคำนำของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” ที่พิมพ์ครั้งแรกไว้ ดังนี้ วิชาโบราณคดีเป็นวิชาที่ไม่ยุติ เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ยังคงฝังจมอยู่ใต้ดิน จำต้องขุดค้นขึ้นมาพิสูจน์กัน เหตุนั้นบทความที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้ ต่อไปอาจผิดพลาดบ้างหรือผิดพลาดทั้งหมดก็ได้ เป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีหรือท่านที่สนใจในวิชาโบราณคดีจะต้องช่วยกันสอบค้นให้ได้ความจริงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในเวลาต่อไป

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ศิลปะสมัยลพบุรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2547 ยังเป็นประโยชน์ยิ่งต่อผู้ต้องการศึกษาหาความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับศิลปะสมัยลพบุรี เพราะนอกจากจะได้อ่านส่วนที่เป็นพระนิพนธ์ดั้งเดิม ซึ่งทางคณะผู้จัดทำยังคงรักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมไว้ทั้งหมดแล้ว ยังได้รับทราบข้อมูลและหลักฐานใหม่ ที่ได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดี รวมทั้งข้อคิดเห็นที่ต่างไปจากเนื้อความในหนังสือที่พิมพ์ครั้งแรก ซึ่งมีทั้งมาจากหนังสือที่ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ขึ้นเองหลังจากนั้น ทั้งมาจากผลงานวิจัยของนักวิชาการรุ่นหลัง สำหรับส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องก็จะเพิ่มเติมข้อความที่แก้ไขต่อท้ายส่วนนั้น ๆ โดยจะพิมพ์เป็นตัวเอนไว้ในวงเล็บ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเห็นได้ชัดเจนว่า ส่วนใดเป็นเนื้อความตามต้นฉบับเดิม ส่วนใดเป็นข้อความที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ นอกจากนั้นยังมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำคัญบางประการในรูปแบบเชิงอรรถอีกด้วย

เนื้อหาของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” แบ่งเป็น 4 หัวข้อ คือ สถาปัตยกรรม ประติมากรรมศิลาและสัมฤทธิ์ จิตรกรรม และเครื่องปูนปั้นและดินเผา โดยแยกอธิบายแบบอย่างศิลปะตามลำดับเวลา มีภาพประกอบขาวดำแทรกในเล่ม 118 ภาพ

(ศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน

สังเขปหนังสือ เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย

เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย เป็นงานวิจัยได้รับทุนอุดหนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2507 โดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ศึกษากำหนดอายุเทวรูปสัมฤทธิ์ในศิลปะสุโขทัยโดยใช้วิวัฒนาการลวดลาย

งานวิจัยชิ้นนี้มีความน่าสนใจ เพราะถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่มีการนำวิธีการศึกษาที่เรียกว่า “วิวัฒนการแห่งลวดลาย” มาใช้เป็นครั้งแรกในการศึกษาศิลปะไทย ทั้งนี้ นักวิชาการชาวต่างประเทศเคยใช้วิธีการดังกล่าวในการศึกษาศิลปกรรมโบราณของอินเดีย ขอม และจาม มาก่อน ส่วนท่านอาจารย์ทรงศึกษาวิธีการนี้มาจากศาสตราจารย์ ฟิลิปป์ สแตร์น ในช่วงที่ท่านอาจารย์ยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส วิธีการศึกษาดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในแนวทางการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจนกระทั่งปัจจุบัน

ผลจากการศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ ของเทวรูปกลุ่มนี้ ทำให้สามารถกำหนดอายุประติมากรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับดินแดนภายนอกที่สะท้อนผ่านรูปแบบศิลปกรรมของเทวรูปกลุ่มนี้ด้วย

(ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

Results 461 to 470 of 475