Showing 475 results

Archival description
Print preview View:

345 results with digital objects Show results with digital objects

สังเขปหนังสือ ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง

ในการจัดการเรียนการสอนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ความรู้พื้นฐานที่นักศึกษาจะต้องเรียนคือ ศิลปะอินเดีย ศิลปะลังกา และศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ขอม พม่า ชวา และจาม ดังนั้น หนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง จึงเป็นตำราเล่มแรกๆ ที่นักศึกษาในหลักสูตรจะต้องอ่าน

หนังสือเล่มนี้มีที่มาจากการแสดงปาฐกถาของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล แก่นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2506 ในเวลาต่อมา ท่านอาจารย์ทรงเรียบเรียงปาฐกถาดังกล่าวออกเป็นหนังสือ 2 เล่ม คือ ศิลปอินเดีย และ ประวัติย่อศิลปลังกา ชวา ขอม มีเนื้อหามาจากบทความของศาสตราจารย์ฟิลิปป์ สแตร์น และจากการเดินทางไปสำรวจแหล่งโบราณสถานด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงเรียบเรียงเสร็จแล้ว ทรงนำไปใช้เป็นตำราทั้งในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหามกุฏราชวิทยาลัย

เมื่อท่านอาจารย์มีชันษาครบ 72 ปี ในปี พ.ศ.2538 มีการจัดพิมพ์หนังสือโดยรวมเนื้อหาของทั้งสองเล่มเข้าด้วยกัน และทรงนิพนธ์เพิ่มขึ้นอีก 3 เรื่อง คือ ศิลปะจาม ศิลปะพม่า และศิลปะลาว เพื่อให้ครบประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง ปัจจุบันนี้ หนังสือเล่มดังกล่าวตีพิมพ์ทั้งหมด 7 ครั้ง

(ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

สังเขปหนังสือ คำบรรยายเรื่อง ศิลปในประเทศไทย (ศิลปะในประเทศไทย)

ศิลปะในประเทศไทย เป็นตำราสำคัญอีกเล่มหนึ่งสำหรับนักศึกษาและผู้สนใจศึกษาศิลปกรรมโบราณในดินแดนไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ขึ้นหลังจากที่ท่านไปแสดงปาฐกถาเรื่องศิลปะในประเทศไทยให้กับนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2506

ข้อมูลจากหนังสือดังกล่าวนั้น ท่านอาจารย์ทรงเรียบเรียงจากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บทความของศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และบทความของนักวิชาการต่างประเทศอีกหลายท่าน อีกทั้ง เนื้อหาบางส่วนมาจากข้อสังเกตทางวิชาการของท่านอาจารย์ด้วย ทั้งนี้ ท่านอาจารย์แบ่งเนื้อหาตามยุคสมัยงานศิลปกรรม โดยเริ่มต้นจากยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุครัตนโกสินทร์

หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ทั้งหมด 15 ครั้ง โดยในการพิมพ์ครั้งที่ 1 ใช้ชื่อว่า คำบรรยายเรื่อง ศิลปในประเทศไทย ต่อมา มีการเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น ศิลปะในประเทศไทย

(ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะมัคคุเทศก์

บทบาทหนึ่งของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล หรือ ท่านอาจารย์ คือ มัคคุเทศก์ นอกจากได้เคยถวายการนำชมแด่พระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรีแล้ว ท่านอาจารย์ยังเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ถวายการนำชมแด่พระราชอาคันตุกะที่เป็นพระประมุข ประมุข และผู้นำของชาติต่างๆอยู่หลายครั้ง เช่น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร, สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 9 แห่งเดนมาร์กและไอซ์แลนด์, สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น และนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งสร้างความพอพระราชหฤทัยและความประทับใจให้แก่พระราชอาคันตุกะเป็นอย่างมาก โดยในครั้งที่ท่านอาจารย์ทรงนำชมถวายแด่สมเด็จพระราชินีอิงกริด ในสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 9 แห่งเดนมาร์คและไอซ์แลนด์นั้น วันสุดท้ายที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ โดยทรงมอบหมายให้ท่านอาจารย์เป็นผู้ถวายการนำชมเพียงท่านเดียว

นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ให้กับกิจกรรมทัศนศึกษา “โบราณคดีสัญจร” จัดโดยนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย กิจกรรมดังกล่าวมีขึ้นเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 โดยพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปทัศนศึกษาแหล่งโบราณคดีในจังหวัดอุดรธานี สกลนคร และนครพนม รายได้จากกิจกรรมนี้นำไปเป็นทุนการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษา และเป็นจุดเริ่มต้นของทุนการศึกษาโบราณคดีทัศนาจรด้วย ทั้งนี้กิจกรรมโบราณคดีสัญจรกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาและผู้เข้าร่วมโครงการหลายท่านที่จะดำเนินรอยตามท่านอาจารย์ในฐานะมัคคุเทศก์ด้วย เช่น คุณไพรัตน์ สูงกิจบูลย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท สวัสดีฮอลิเดย์ จำกัด ซึ่งคุณไพรัตน์และเพื่อน ๆ ผู้ร่วมก่อตั้งได้กราบทูลเชิญท่านอาจารย์เป็นองค์ประธานที่ปรึกษาของบริษัท

การเป็นมัคคุเทศก์ในหลากหลายโอกาส นอกเหนือจากภารกิจที่ทรงได้รับมอบหมายแล้ว ท่านอาจารย์ยังทรงเล็งเห็นความสำคัญของมัคคุเทศก์ที่จะทำให้ความรู้ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะแพร่หลายสู่บุคคลทั่วไป และยังทรงเห็นว่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรักประเทศชาติด้วย

ด้วยการให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่านอาจารย์ทรงมีความคิดล้ำสมัยในการสนับสนุนให้จัดกิจกรรม “แสงและเสียง” ในพื้นที่โบราณสถาน เพื่อให้ประชาชนสนใจเยี่ยมชมโบราณสถานและเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2515 ท่านอาจารย์ทรงทำจดหมายถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยเนื้อความในจดหมายระบุว่า

“...เรื่อง “แสงและเสียง” ที่จะจัดทำในประเทศไทยนี้ ผมเห็นว่าถ้าทำได้ ก็คงจะเป็นการดี เพราะเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ อาจก่อให้ประชาชนไทยมีความภาคภูมิใจและรักชาติยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการดึงดูนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศด้วย...การเลือกสถานที่ควรเลือกที่มีเรื่องราวตื่นเต้นพอสมควร เพื่อเร้าใจผู้ดูประกอบ เช่น...ถ้าป็นที่พระนครศรีอยุธยา ก็ต้องมีตอนเสียกรุง ถ้าเป็นที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ก็ต้องมีตอนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต...”

หลักฐานชิ้นนี้แสดงให้เห็นชัดว่าท่านอาจารย์ทรงให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวในฐานะเครื่องมือสร้างความรักชาติและพร้อมเปิดรับวิธีการใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งความคิดดังกล่าวถูกนำมาปฎิบัติจริงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 ที่วัดอรุณราชวราราม และขยายตัวต่อเนื่องจนกลายเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในการท่องเที่ยวโบราณสถานสืบมาจนถึงปัจจุบัน

(รศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย

คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการตรวจสอบและแปลเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรมจากภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทยและจากภาษาต่างประเทศ จัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรม เผยแพร่ผลงานของคณะกรรมการฯ และความรู้ด้านประวัติศาสตร์ไทย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาค้นคว้า

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2531 โดยได้มีการตีพิมพ์บทความต่าง ๆ ลงในแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี เช่น บทความ “จารึกใหม่ที่ศรีเทพ” และ “จารึกจากจังหวัดปราจีนบุรี” บทความแปลจากศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย

Results 471 to 475 of 475