Showing 4 results

Archival description
โบราณวัตถุสถาน
Print preview View:

4 results with digital objects Show results with digital objects

โบราณวัตถุสถานสมัยประวัติศาสตร์ในประเทศไทยและการอนุรักษ์

โบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยแบ่งกว้าง ๆ เป็น 2 สมัย คือ สมัยก่อนที่ชนชาติไทยจะเข้าปกครองประเทศ และสมัยที่ชนชาติไทยเข้าปกครองประเทศแล้ว สำหรับสมัยแรกแบ่งเป็นศิลปะ 5 แบบย่อย ๆ ได้แก่ 1) โบราณวัตถุรุ่นต้นที่ค้นพบในประเทศไทย (ราวพุทธศตวรรษที่ 6-11) เช่น ตะเกียงโรมันสำริด ซึ่งค้นพบที่ ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี 2) ศิลปะทวาราวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16) เช่น ศิลาจารึกภาษามอญรุ่นเก่าราวพุทธศตวรรษที่ 12 ค้นพบในเขตจังหวัดนครปฐม และลพบุรี 3) เทวรูปรุ่นเก่าในประเทศไทย (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14) เช่น ศิวลึงค์ และเทวรูปพระนารายณ์ ค้นพบทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทย 4) ศิลปะศรีวิชัย (ราวพุทธศตวรรษที่ 13-18) เช่น เศษเครื่องถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์ถัง ค้นพบทั้งทางฝั่งทะเลตะวันออกและตะวันตกของประเทศไทย 5) ศิลปะลพบุรี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-19) พบที่ภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่วนศิลปะในประเทศไทยเมื่อชนชาติไทยเข้าปกครองแล้ว แบ่งได้เป็น 5 แบบ คือ 6) ศิลปะเชียงแสนหรือล้านนา (ราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือ 18 ถึง พุทธศตวรรษที่ 23) เจริญขึ้นมาทางภาคเหนือของประเทศไทย 7) ศิลปะสุโขทัย (ราวพุทธศตวรรษที่ 19-20) ถือกันว่าเป็นศิลปะที่งามที่สุดของไทย เช่น พระพุทธรูปสุโขทัย เครื่องสังคโลก 8) ศิลปะอู่ทอง (ราวพุทธศตวรรษที่ 17-20) เช่น พระพุทธรูป พระปรางค์องค์ใหญ่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี 9) ศิลปะอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 20-23) เช่น จิตรกรรมฝาผนัง เครื่องอาภรณ์ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เครื่องลายรดน้ำ 10) ศิลปะรัตนโกสินทร์ (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 24 จนถึงปัจจุบัน) มีการเลียนแบบศิลปะจีน และศิลปะตะวันตกเป็นศิลปะแบบผสม (eclectic).

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

ไปประเทศเวียดนาม

ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาและศึกษาโบราณวัตถุสถานในประเทศเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 17-30 กันยายน 2525 ซึ่งได้แสดงปาฐกถาเป็นภาษาฝรั่งเศสที่สถาบันโบราณคดีครั้งแรกเรื่อง การค้นคว้าทางโบราณคดีปัจจุบันในประเทศไทย กล่าวถึงโบราณวัตถุสำริดซึ่งค้นพบใหม่ที่บ้านดอนตาล จังหวัดนครพนม ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมบ้านเชียง ปราสาทขอมที่ค้นพบใหม่ ณ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี และโบราณคดีใต้น้ำในประเทศไทยโดยเฉพาะการงมเครื่องถ้วยชามจากเรือที่สัตหีบ ครั้งที่ 2 เรื่องศิลปะสมัยคลาสสิคในประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-24 ครั้งที่ 3 แสดงปาฐกถาที่สถาบันการศึกษาเกี่ยวกับภาคเอเชียอาคเนย์เกี่ยวกับการตั้งรัฐไทยสมัยโบราณในประเทศไทย ครั้งที่ 4 แสดงปาฐกถาที่สถาบันสังคมศาสตร์ เรื่องการค้นคว้าทางโบราณคดีปัจจุบันในประเทศไทย นอกจากนั้นยังได้ไปชมสถานที่ต่าง ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์เมืองดานัง ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะจามที่ดีที่สุด ปราสาทโพนคร หมู่บ้านจาม ปราสาทโพกลวงการาย และพิพิธภัณฑ์ Blanchard de la Brosse.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

แผ่นเงินสมัยทวาราวดีซึ่งขุดพบที่อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

แผ่นเงิน 66 แผ่น ค้นพบที่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ในซากพระอุโบสถ (?) ซึ่งเรียกกันว่า อุ่มญาคู ในเมืองคันธารวิสัย ต.คันธาร์ เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 7 ได้ขุดค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2515 เมืองคันธารวิสัย มีแผนผังเป็นรูปไข่ มีคูเมืองล้อมรอบอยู่ระหว่างเชิงเทิน 2 ชั้น สิ่งสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งที่ค้นพบในการขุดแต่งซากพระอุโบสถคือ พระพิมพ์ดินเผา ขนาด 14 x 22.5 ซม. เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-15 แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ ภาชนะดินเผาสูง 12.5 ซม. ปากกว้าง 20 ซม. มีแผ่นเงินบุเป็นรูปต่าง ๆ 66 แผ่น อยู่ภายใน ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดต่าง ๆ กัน ระหว่าง ขนาด 10 x 15 ซม. เป็นแผ่นเงินที่ถูกบุเป็นพระพุทธรูป รูปเทวดาหรือเจ้านาย รูปสถูปและธรรมจักรตั้งอยู่บนยอดเสา ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง อาจสรุปว่าสร้างขึ้นในศิลปะทวารวดี โดยบุขึ้นในตอนปลายของศิลปะทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 แสดงถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในขณะนั้น.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด

กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต โปรดให้รื้อตำหนักไทยของพระบิดา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต มาปลูกไว้ที่วังสวนผักกาด และทรงเริ่มตกแต่งตำหนักเหล่านั้นด้วยโบราณวัตถุไทยที่พระธิดาได้ทรงรวบรวมไว้แต่ก่อน ต่อมา เสด็จในกรมฯ ได้ประทานวังสวนผักกาดให้เป็นพิพิธภัณฑ์และตั้งชื่อให้ว่า พิพิธภัณฑ์จุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประกอบด้วยตำหนักไทยหลังแรกทางด้านทิศเหนือมีพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระพุทธรูป
คันธารราฐ เทวรูปพระอุมา รูปอรรธนารีศวร (ในบทความใช้ว่ารูปอรรธนารี) ภาพสลักบนไม้ จิตรกรรมบนไม้เรื่องพุทธประวัติสมัยอยุธยา ฯลฯ ตำหนักไทยด้านทิศใต้มีพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย เครื่องมุก เครื่องถม พัดรอง ฯลฯ หอเขียนมีภาพลายรดน้ำตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบริเวณวัง เรือนไทยทางทิศตะวันตกมีภาพเขียนสมัยปัจจุบันของศิลปินไทย เรือนไทยทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีเครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย เครื่องถ้วยชามสมัยลพบุรีและสมัยก่อนประวัติศาสตร์.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล