หนังสือ -- สาระสังเขป

Taxonomy

Code

Scope note(s)

Source note(s)

Display note(s)

Hierarchical terms

หนังสือ -- สาระสังเขป

Equivalent terms

หนังสือ -- สาระสังเขป

Associated terms

หนังสือ -- สาระสังเขป

6 Archival description results for หนังสือ -- สาระสังเขป

6 results directly related Exclude narrower terms

สังเขปหนังสือ คำบรรยายเรื่อง ศิลปในประเทศไทย (ศิลปะในประเทศไทย)

ศิลปะในประเทศไทย เป็นตำราสำคัญอีกเล่มหนึ่งสำหรับนักศึกษาและผู้สนใจศึกษาศิลปกรรมโบราณในดินแดนไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ขึ้นหลังจากที่ท่านไปแสดงปาฐกถาเรื่องศิลปะในประเทศไทยให้กับนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2506

ข้อมูลจากหนังสือดังกล่าวนั้น ท่านอาจารย์ทรงเรียบเรียงจากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บทความของศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และบทความของนักวิชาการต่างประเทศอีกหลายท่าน อีกทั้ง เนื้อหาบางส่วนมาจากข้อสังเกตทางวิชาการของท่านอาจารย์ด้วย ทั้งนี้ ท่านอาจารย์แบ่งเนื้อหาตามยุคสมัยงานศิลปกรรม โดยเริ่มต้นจากยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุครัตนโกสินทร์

หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ทั้งหมด 15 ครั้ง โดยในการพิมพ์ครั้งที่ 1 ใช้ชื่อว่า คำบรรยายเรื่อง ศิลปในประเทศไทย ต่อมา มีการเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น ศิลปะในประเทศไทย

(ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

สังเขปหนังสือ ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง

ในการจัดการเรียนการสอนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ความรู้พื้นฐานที่นักศึกษาจะต้องเรียนคือ ศิลปะอินเดีย ศิลปะลังกา และศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ขอม พม่า ชวา และจาม ดังนั้น หนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง จึงเป็นตำราเล่มแรกๆ ที่นักศึกษาในหลักสูตรจะต้องอ่าน

หนังสือเล่มนี้มีที่มาจากการแสดงปาฐกถาของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล แก่นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2506 ในเวลาต่อมา ท่านอาจารย์ทรงเรียบเรียงปาฐกถาดังกล่าวออกเป็นหนังสือ 2 เล่ม คือ ศิลปอินเดีย และ ประวัติย่อศิลปลังกา ชวา ขอม มีเนื้อหามาจากบทความของศาสตราจารย์ฟิลิปป์ สแตร์น และจากการเดินทางไปสำรวจแหล่งโบราณสถานด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงเรียบเรียงเสร็จแล้ว ทรงนำไปใช้เป็นตำราทั้งในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหามกุฏราชวิทยาลัย

เมื่อท่านอาจารย์มีชันษาครบ 72 ปี ในปี พ.ศ.2538 มีการจัดพิมพ์หนังสือโดยรวมเนื้อหาของทั้งสองเล่มเข้าด้วยกัน และทรงนิพนธ์เพิ่มขึ้นอีก 3 เรื่อง คือ ศิลปะจาม ศิลปะพม่า และศิลปะลาว เพื่อให้ครบประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียง ปัจจุบันนี้ หนังสือเล่มดังกล่าวตีพิมพ์ทั้งหมด 7 ครั้ง

(ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

สังเขปหนังสือ เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย

เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย เป็นงานวิจัยได้รับทุนอุดหนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2507 โดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ศึกษากำหนดอายุเทวรูปสัมฤทธิ์ในศิลปะสุโขทัยโดยใช้วิวัฒนาการลวดลาย

งานวิจัยชิ้นนี้มีความน่าสนใจ เพราะถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่มีการนำวิธีการศึกษาที่เรียกว่า “วิวัฒนการแห่งลวดลาย” มาใช้เป็นครั้งแรกในการศึกษาศิลปะไทย ทั้งนี้ นักวิชาการชาวต่างประเทศเคยใช้วิธีการดังกล่าวในการศึกษาศิลปกรรมโบราณของอินเดีย ขอม และจาม มาก่อน ส่วนท่านอาจารย์ทรงศึกษาวิธีการนี้มาจากศาสตราจารย์ ฟิลิปป์ สแตร์น ในช่วงที่ท่านอาจารย์ยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส วิธีการศึกษาดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในแนวทางการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจนกระทั่งปัจจุบัน

ผลจากการศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ ของเทวรูปกลุ่มนี้ ทำให้สามารถกำหนดอายุประติมากรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับดินแดนภายนอกที่สะท้อนผ่านรูปแบบศิลปกรรมของเทวรูปกลุ่มนี้ด้วย

(ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

สังเขปหนังสือ ศิลปะสมัยลพบุรี

ศิลปะสมัยลพบุรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2547 ซึ่งห่างจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 นานถึง 37 ปี ระหว่างนั้นได้มีการพบหลักฐานใหม่จากการขุดแต่งโบราณสถานขอมในประเทศไทยที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง อีกทั้งยังมีผลงานศึกษาวิจัยของนักวิชาการรุ่นหลัง ซึ่งมีวิธีการและเครื่องมือในการศึกษาที่มีคุณภาพและทันสมัยมากกว่าในอดีต ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับศิลปะสมัยลพบุรีออกมาอีกไม่น้อย จึงทำให้คณะผู้ดูแลรับผิดชอบการจัดพิมพ์หนังสือ “ศิลปะลพบุรี” เห็นควรต้องแก้ไขข้อมูลบางส่วนให้ถูกต้อง รวมทั้งเพิ่มเติมข้อมูลหลักฐานที่มีการค้นพบใหม่ในช่วงเวลา 37 ปีที่ผ่านมาด้วย เพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ดังที่ได้ทรงปรารภไว้ในคำนำของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” ที่พิมพ์ครั้งแรกไว้ ดังนี้ วิชาโบราณคดีเป็นวิชาที่ไม่ยุติ เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ยังคงฝังจมอยู่ใต้ดิน จำต้องขุดค้นขึ้นมาพิสูจน์กัน เหตุนั้นบทความที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้ ต่อไปอาจผิดพลาดบ้างหรือผิดพลาดทั้งหมดก็ได้ เป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีหรือท่านที่สนใจในวิชาโบราณคดีจะต้องช่วยกันสอบค้นให้ได้ความจริงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในเวลาต่อไป

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ศิลปะสมัยลพบุรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2547 ยังเป็นประโยชน์ยิ่งต่อผู้ต้องการศึกษาหาความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับศิลปะสมัยลพบุรี เพราะนอกจากจะได้อ่านส่วนที่เป็นพระนิพนธ์ดั้งเดิม ซึ่งทางคณะผู้จัดทำยังคงรักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมไว้ทั้งหมดแล้ว ยังได้รับทราบข้อมูลและหลักฐานใหม่ ที่ได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดี รวมทั้งข้อคิดเห็นที่ต่างไปจากเนื้อความในหนังสือที่พิมพ์ครั้งแรก ซึ่งมีทั้งมาจากหนังสือที่ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ขึ้นเองหลังจากนั้น ทั้งมาจากผลงานวิจัยของนักวิชาการรุ่นหลัง สำหรับส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องก็จะเพิ่มเติมข้อความที่แก้ไขต่อท้ายส่วนนั้น ๆ โดยจะพิมพ์เป็นตัวเอนไว้ในวงเล็บ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเห็นได้ชัดเจนว่า ส่วนใดเป็นเนื้อความตามต้นฉบับเดิม ส่วนใดเป็นข้อความที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ นอกจากนั้นยังมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำคัญบางประการในรูปแบบเชิงอรรถอีกด้วย

เนื้อหาของหนังสือ “ศิลปะลพบุรี” แบ่งเป็น 4 หัวข้อ คือ สถาปัตยกรรม ประติมากรรมศิลาและสัมฤทธิ์ จิตรกรรม และเครื่องปูนปั้นและดินเผา โดยแยกอธิบายแบบอย่างศิลปะตามลำดับเวลา มีภาพประกอบขาวดำแทรกในเล่ม 118 ภาพ

(ศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน

สังเขปหนังสือ ศิลปะขอม

ศิลปะขอม เป็นหนังสือที่ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะขอมอย่างกว้าง ๆ การกล่าวเกริ่นถึง ประวัติศาสตร์อาณาจักรขอมจากจุดเริ่มต้นสู่ยุคเสื่อมโทรม การนับถือศาสนาของชนชาติขอม และปัญหาเกี่ยวกับตัวเมืองพระนคร ในบทที่ 1-3 เป็นการช่วยปูพื้นความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะขอมในบทต่อไป การวางเนื้อหาหลัก ที่เริ่มจากการกล่าวถึงพัฒนาการทางรูปแบบของสถาปัตยกรรมขอม ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 ในบทที่ 4 จากนั้นจึงบรรยายรายละเอียดของแบบแผนลวดลายส่วนประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรมขอม อันได้แก่ ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู หน้าบัน ประตูหลอก เสาติดกับผนัง ฐาน รวมทั้งภาพสลักเล่าเรื่องราว ประติมากรรมรูปสัตว์ และประติมากรรมรูปมนุษย์ ในบทที่ 5-11 โดยอธิบายแยกตามลำดับแบบอย่างของศิลปะขอม มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการทางรูปแบบของศิลปะขอมผ่านการศึกษาจากการสังเกตระเบียบแบบแผนและรายละเอียดของลวดลายที่แตกต่างกันของศิลปะขอมแต่ละแบบ

ภาคผนวกท้ายเล่มประกอบด้วยตารางแสดงรายการปราสาทขอมที่สำคัญโดยจัดแบ่งตามแบบศิลปะและตารางแสดงลำดับกษัตริย์ขอมในประเทศกัมพูชา รวมทั้งภาพเขียนลายเส้นแสดงประติมากรรมขอมแบบต่าง ๆ 34 ภาพ หนังสือมีภาพประกอบขาวดำในเล่ม 237 ภาพ

(ศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน

สังเขปหนังสือ ศิลปะอินเดีย

ศิลปะอินเดีย เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศิลปะอินเดียโดยสังเขปตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงหลัง พ.ศ. 1550 โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 สมัย คือ 1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์และแรกเริ่มประวัติศาสตร์ 2. ศิลปะสมัยต้นประวัติศาสตร์หรือศิลปะอินเดียสมัยโบราณ 3. ศิลปะอินเดียสมัยที่ 2 คือ ศิลปะคันธารราฐ มถุรา และอมราวดี 4. ศิลปะอินเดียสมัยที่ 3 คือ ศิลปะสมัยคุปตะ ศิลปะสมัยหลังคุปตะ และศิลปะสมัยปาละ - เสนะ ในแคว้นเบงกอล 5. ศิลปะอินเดียสมัยที่ 4 หลัง พ.ศ. 1550 เนื้อหาตอนต้นของแต่ละสมัยเป็นการให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น ๆ โดยสังเขป ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางรูปแบบ แนวคิด และเนื้อหา ในการสร้างงานศิลปะแห่งยุคสมัยนั้น ศิลปะแต่ละสมัยแยกอธิบายเนื้อหาตามสาขาของศิลปะ อันได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประณีตศิลปะและเทคนิคต่าง ๆ
ท้ายเล่มมีภาพประกอบขาวดำ 101 ภาพ

(ศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน)

กฤษณา หงษ์อุเทน