แม้งานด้านพิพิธภัณฑ์ในสังคมไทยจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าจ้าอยู่หัว แต่พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะสำหรับประชาชนอย่างกว้างขวาง อาจกล่าวได้ว่าเพิ่งเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในราวปลายทศวรรษ 2470 และมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ในช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มมีแนวคิดจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายแห่งให้กระจายตัวไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจาก หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่ทรงกล่าวถึงความสำคัญของการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามท้องถิ่นต่าง ๆ ไว้ว่า
“...สำหรับพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นนั้น ถ้าเป็นไปได้ เห็นสมควรจัดตั้งตามหัวเมืองที่สำคัญในปัจจุบัน และหัวเมืองที่เคยเป็นที่ตั้งที่สำคัญในสมัยก่อน...ถ้าจัดได้ดีจะน่าชมมาก ดังพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ หลายแห่งในทวีปยุโรป...การจัดพิพิธภัณฑ์ในท้องที่เหล่านี้มีประโยชน์มากในการทำให้ประชาชนมีความภาคภูมิรักชาติยิ่งขึ้น และยังอาจช่วยนำให้พากันดูแลเอาใจใส่รักษาโบราณวัตถุสถานในท้องถิ่นของตนเอง...”
นอกจากนี้ ยังทรงให้ความสำคัญกับวิธีการจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความสะดวกของผู้เข้าชม การจัดแสดงที่เข้าใจง่าย เส้นทางเดินที่ไม่สับสน และไม่เป็นการจัดแสดงที่ดูเป็นคลังเก็บโบราณวัตถุเช่นในอดีต ที่สำคัญคือ ในส่วนของการออกแบบโครงเรื่องในการจัดแสดง ทรงแสดงทัศนะที่ชัดเจนว่าควรจัดแสดงโดยแบ่งโบราณวัตถุออกเป็นยุคสมัยทางศิลปะที่มีการศึกษาค้นคว้าแล้วตามหลักวิชาการ ดังตัวอย่างเมื่อทรงกล่าวถึงการปรับปรุงการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่จะมีการสร้างอาคารจัดแสดงขึ้นใหม่ในปลายทศวรรษ 2490 พระองค์ทรงให้ความเห็นไว้ว่า
“...พิพิธภัณฑ์ที่สร้างใหม่นี้อาจเรียกชื่อได้ว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยและศิลปะปลายบุรพทิศ (Thai and Far Eastern Art Museum)...พิพิธภัณฑ์นี้อาจสร้างได้เป็น 2 ชั้น คือ ชั้นล่างเป็นศิลปะไทย ชั้นบนเป็นศิลปะปลายบุรพทิศ ชั้นล่างนั้นสมควรแบ่งเป็น 12 ห้อง หรือจะให้น้อยกว่านั้นแต่ห้องใหญ่ขึ้นก็ได้ เพื่อจัดตั้งศิลปวัตถุยุคต่างๆ ในประเทศไทย คือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ของต่างประเทศที่พบในเมืองไทย สมัยก่อนขอม สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์...”
หรือในคราวจัดพิพิธภัณฑ์ที่ไชยา ทรงรับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบการจัดแสดงด้วยพระองค์เอง ซึ่งมีหลักฐานบันทึกรูปแบบและวิธีการจัดแสดงตามแนวทางของพระองค์เอาไว้ว่า
“...การวางวัตถุเราใช้ระดับสายตาเป็นเกณฑ์ ซึ่งจะไม่เกิดขัดนัยน์ตาแก่ผู้ชม สิ่งของที่จัดตั้งวางอย่างได้ระเบียบ...การเดินเข้าชมหลังที่สองนี้มีทางเข้าทางหนึ่งและทางออกทางหนึ่ง ผู้ชมจะไม่เกิดงงในการเดินชมสิ่งของ หรือไม่เกิดเดินหลงไปหลงมา...และนอกจากนี้ผู้ชมจะไม่รู้สึกเบื่อในการเดินชม ผู้ชมจะเข้าใจลำดับสมัยศิลปวัตถุในประเทศไทยได้เอง ท่านอาจารย์ (หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ-ผู้เขียน) ได้ทรงจัดพระพุทธรูปไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ตามสมัยเรียงตามลำดับ คือสมัยคันธารราฐ, ปาละเสนะ, ศรีวิชัย, ลพบุรี, สุโขทัย, อู่ทองสมัยที่ 1,2 และ 3, อยุธยา, และรัตนโกสินทร์...”
นอกจากตัวอย่างของทั้ง 2 แห่งข้างต้น หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ยังได้เข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญต่อการออกแบบการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอีกมากมาย ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดคือพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งต่อการศึกษาและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของสังคมไทย และพระกรณียกิจด้านนี้ก็ได้กลายเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้เกี่ยวข้องสานต่อแนวคิดในการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอีกหลายแห่งตามมา
อาจกล่าวได้ว่า หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเป็นภัณฑารักษ์รุ่นบุกเบิก ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านทางรูปแบบและเนื้อหาการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ตามระบบสมัยใหม่ของไทย ทรงใส่พระทัยในงานการออกแบบเพื่อให้ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจโบราณวัตถุได้ง่ายผ่านการแบ่งหมวดหมู่การจัดแสดงตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่ทรงวางแนวทางและรากฐานการจัดแสดงเช่นนี้ให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกือบทุกแห่งในสังคมไทย ซึ่งพระปรีชาในด้านนี้ยังคงได้รับการสืบทอดอย่างมั่นคง เป็นหนึ่งแนวทางกระแสหลักในการจัดแสดงโบราณวัตถุของสังคมไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน
(ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ)