ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล กับบทบาทในฐานะมัคคุเทศก์
- TH Subhadradis 06 MISC-03-01-003-0005
- 2565
Part of ปกิณกะ
บทบาทหนึ่งของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล หรือ ท่านอาจารย์ คือ มัคคุเทศก์ นอกจากได้เคยถวายการนำชมแด่พระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรีแล้ว ท่านอาจารย์ยังเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ถวายการนำชมแด่พระราชอาคันตุกะที่เป็นพระประมุข ประมุข และผู้นำของชาติต่างๆอยู่หลายครั้ง เช่น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร, สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 9 แห่งเดนมาร์กและไอซ์แลนด์, สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น และนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งสร้างความพอพระราชหฤทัยและความประทับใจให้แก่พระราชอาคันตุกะเป็นอย่างมาก โดยในครั้งที่ท่านอาจารย์ทรงนำชมถวายแด่สมเด็จพระราชินีอิงกริด ในสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 9 แห่งเดนมาร์คและไอซ์แลนด์นั้น วันสุดท้ายที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ โดยทรงมอบหมายให้ท่านอาจารย์เป็นผู้ถวายการนำชมเพียงท่านเดียว
นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ให้กับกิจกรรมทัศนศึกษา “โบราณคดีสัญจร” จัดโดยนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย กิจกรรมดังกล่าวมีขึ้นเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 โดยพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปทัศนศึกษาแหล่งโบราณคดีในจังหวัดอุดรธานี สกลนคร และนครพนม รายได้จากกิจกรรมนี้นำไปเป็นทุนการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษา และเป็นจุดเริ่มต้นของทุนการศึกษาโบราณคดีทัศนาจรด้วย ทั้งนี้กิจกรรมโบราณคดีสัญจรกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาและผู้เข้าร่วมโครงการหลายท่านที่จะดำเนินรอยตามท่านอาจารย์ในฐานะมัคคุเทศก์ด้วย เช่น คุณไพรัตน์ สูงกิจบูลย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท สวัสดีฮอลิเดย์ จำกัด ซึ่งคุณไพรัตน์และเพื่อน ๆ ผู้ร่วมก่อตั้งได้กราบทูลเชิญท่านอาจารย์เป็นองค์ประธานที่ปรึกษาของบริษัท
การเป็นมัคคุเทศก์ในหลากหลายโอกาส นอกเหนือจากภารกิจที่ทรงได้รับมอบหมายแล้ว ท่านอาจารย์ยังทรงเล็งเห็นความสำคัญของมัคคุเทศก์ที่จะทำให้ความรู้ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะแพร่หลายสู่บุคคลทั่วไป และยังทรงเห็นว่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรักประเทศชาติด้วย
ด้วยการให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่านอาจารย์ทรงมีความคิดล้ำสมัยในการสนับสนุนให้จัดกิจกรรม “แสงและเสียง” ในพื้นที่โบราณสถาน เพื่อให้ประชาชนสนใจเยี่ยมชมโบราณสถานและเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2515 ท่านอาจารย์ทรงทำจดหมายถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยเนื้อความในจดหมายระบุว่า
“...เรื่อง “แสงและเสียง” ที่จะจัดทำในประเทศไทยนี้ ผมเห็นว่าถ้าทำได้ ก็คงจะเป็นการดี เพราะเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ อาจก่อให้ประชาชนไทยมีความภาคภูมิใจและรักชาติยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการดึงดูนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศด้วย...การเลือกสถานที่ควรเลือกที่มีเรื่องราวตื่นเต้นพอสมควร เพื่อเร้าใจผู้ดูประกอบ เช่น...ถ้าป็นที่พระนครศรีอยุธยา ก็ต้องมีตอนเสียกรุง ถ้าเป็นที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ก็ต้องมีตอนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต...”
หลักฐานชิ้นนี้แสดงให้เห็นชัดว่าท่านอาจารย์ทรงให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวในฐานะเครื่องมือสร้างความรักชาติและพร้อมเปิดรับวิธีการใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งความคิดดังกล่าวถูกนำมาปฎิบัติจริงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 ที่วัดอรุณราชวราราม และขยายตัวต่อเนื่องจนกลายเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในการท่องเที่ยวโบราณสถานสืบมาจนถึงปัจจุบัน
(รศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ)
อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช