พระพุทธรูปนาคปรกศิลา แต่เดิมอยู่ในบ้านเหมืองฝ้าย เขตอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ได้ถูกลักขโมย ภายหลังทางหน่วยศิลปากรที่ 6 ได้รับคืนและฝากไว้ที่วัดอุทัยมัคคาราม (วัดหินดาด) อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปนาคปรกขนาดใหญ่แบบทวารวดีอย่างแท้จริงและยังคงรักษาอิทธิพลของศิลปอินเดียแบบอมราวดี อันเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธรูปนาคปรกไว้ได้มาก พระพุทธรูปสลักเป็นภาพนูนสูงเหนือแผ่นหลัง องค์พระสูง 1.05 เมตร รวมทั้งฐานข้างล่าง แต่ไม่รวมเดือยข้างใต้ หน้าตักกว้าง 67 เซนติเมตร เดือยใต้ฐานฐานสูง 60 เซนติเมตร
พระพุทธรูปนาคปรกที่บ้านเหมืองฝ้ายองค์นี้ถือเป็นองค์ที่เก่าแก่ที่สุดเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปนาคปรกศิลาสมัยทวารวดีอีก 3 องค์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้แก่ พระพุทธรูปนาคปรกจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี พระพุทธรูปนาคปรกศิลาสมัยทวารวดี จากจังหวัดปราจีนบุรี และพระพุทธรูปนาคปรกศิลาสมัยทวารวดี จากวัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล