ศิลปกรรมพุทธศาสนา -- ไทย

Taxonomy

Code

Scope note(s)

Source note(s)

Display note(s)

Hierarchical terms

ศิลปกรรมพุทธศาสนา -- ไทย

Equivalent terms

ศิลปกรรมพุทธศาสนา -- ไทย

Associated terms

ศิลปกรรมพุทธศาสนา -- ไทย

2 Archival description results for ศิลปกรรมพุทธศาสนา -- ไทย

2 results directly related Exclude narrower terms

ใบเสมาสลักเล่าเรื่องสมัยลพบุรีในพิพิธภัณฑสถานฯ

ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ห้องลพบุรี มีใบเสมาศิลาสมัยลพบุรี ซึ่งมีภาพสลักประกอบอยู่ 3 แผ่น
ใบแรกสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน สลักด้วยศิลาทรายสีชมพู สูง 119 ซม. กว้าง 65 ซม. และหนา 46 ซม. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2475 ด้านหน้าสลักเป็นพระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ มีนาค 7 เศียรอยู่ดหนือพระเศียรของพุทธรูป และมีขนาดนาค 3 ชั้น อยู่เบื้องล่าง ด้านข้างขวาของพระพุทธรูปสลักเป็นรูปบุรุษและสตรียืนอยู่ภายในวงโค้งซึ่งสลักเป็นช่องลึกเข้าไปในเนื้อศิลา ด้านหลังคือด้านตรงข้ามกับพระพุทธรูปนาคปรก สลักเป็นรูปบุรุษ 8 กร ยืนอยู่ภายในซุ้ม ซึ่งด้านบนสลักเป็นขอบซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นบนมีส่วนกลางแหลม ยืนเหนือฐานบัวคว่ำบัวหงายซึ่งมีเกสรบัวประกอบ มีพระพุทธรูป 2 องค์ ปางสมาธิขนาดเล็กอยู่ภายในซุ้มเบื้องบนของศีรษะ ด้านข้างซ้ายของพระพุทธรูปสลักรูปบุรุษและสตรียืนซ้อนกันอยู่ภายในซุ้ม วงส่วนยอดประกอบด้วยวงโค้ง 3 วง ดังในภาพสลักด้านข้างด้านขวา รูปบุรุษด้านบนคงเป็นรูปพระโพธิสัตว์วัชรปาณีอย่างแน่นอน
ใบเสมาสลักภาพอีก 2 แผ่น มาจากศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรี สลักขึ้นในสมัยลพบุรี โดยใช้หินปูนสีเทาซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยทวารวดี
ใบเสมาแผ่นที่ 2 สูง 96.5 ซม. กว้าง 46 ซม. ความหนารวมฐานด้านหน้า 44.5 ซม. สลักเป็นรูปพระพรหมกำลังยืนอยู่ภายในซุ้ม ซุ้มมีลักษณะคล้ายกับซุ้มเหนือพระพุทธรูปนาคปรกในใบเสมาแผ่นที่ 1 แต่มีลวดลายประดับมากยิ่งขึ้น คือภายในแบ่งเป็นแนว 3 แนวแทนที่จะเป็นพื้นเรียบดังแต่ก่อน ใบระกาเหนือซุ้มเพิ่มขึ้นเป็น 13 ใบ แทนที่จะเป็น 11 ใบ และทุกใบประกอบด้วยขอบเป็นเส้นคู่แทนที่จะมีแต่เพียงบนใบกลางเพียงใบเดียว ลายที่มุมเหนือบัวหัวเสาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คงกลายมาจากเศียรนาคที่หันหัวออกคายพวงอุบะ ภายในมีพระพรหมกำลังยืนอยู่ แลเห็นพักตร์เพียง 2 พักตร์
ใบเสมาแผ่นที่ 3 มีลักษณะคล้ายกับใบเสมาสลักรูปพระพรหมมาก สูง 103 ซม. กว้าง 42 ซม. และหนา 30 ซม. สลักเป็นรูปเทพธิดา 2 องค์ ยืนอยู่ภายในซุ้ม ลักษณะซุ้มเหมือนกับซุ้มเหนือพระพรหม แต่ใบระกาจำนวนลงเหลือเพียง 11 ใบ ไม่มีขอบเป็นเส้นคู่ แต่มีเส้นนูนอยู่ตรงกลางทุกใบ ลวดลายที่ขอบซุ้มเหนือหัวบัวเสาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กลายมาจากลายเศียรนาคหันหัวออกคายพวงอุบะ เทพธิดา 2 องค์นี้แสดงให้เห็นว่าสลักขึ้นตรงกับศิลปขอมสมัยบาปวนตอนปลาย (ราว พ.ส. 1600-1650) คือมีเกศาเป็นเกศาถักรวบเป็นมวยมีรูปร่างค่อนข้างกลมอยู่เหนือเศียร และมีลูกประคำอยู่ที่เชิงมวย มีไรพระศกและพระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล