- TH Subhadradis 02 ACAR-01-054
- Item
- 2512
Part of บทความ
พระพุทธรูปอินเดียแบบหลังคุปตะ อยู่ในช่วงหลังสมัยราชวงศ์คุปตะ ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 9-14 โดยจะแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ 1) แบบประทับยืน เช่น พระพุทธรูปที่สลักหน้าถ้ำอชันตา พระพุทธรูปแบบทวารวดีที่เก่าที่สุดในประเทศไทยก็คงได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปกลุ่มนี้ พระพุทธรูปอินเดียแบบหลังคุปตะน่าจะรับอิทธิพลจากอินเดียภาคกลาง รวมทั้งอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบอมราวดี คันธารราฐ
พุทธลักษณะมีพระเกตุมาลาเป็นรูปกรวยค่อนข้างสูง ขมวดพระเกศาขนาดเล็กสลักนูนขึ้นมา การครองจีวรมีทั้งแบบห่มคลุมและครองจีวรห่มเฉียง มีทั้งเรียบไม่มีริ้ว และมีริ้ว พระหัตถ์ขวาของพระพุทธรูปในกลุ่มครองจีวรห่มคลุมมักแสดงปางประทานอภัยแต่บางครั้งก็แสดงปางประทานพร ในกลุ่มพระพุทธรูปยืนแบบครองจีวรห่มเฉียงจะยืนด้วยอาการตริภังค์ 2) กลุ่มแบบประทับนั่ง มีการทำพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเป็นจำนวนมาก พระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาใหญ่และแบบพระเกตุมาลาเป็นรูปกรวย มักครองจีวรห่มเฉียง บางองค์แสดงปางประทานปฐมเทศนา เช่นที่ถ้ำอชันตาที่ 27 ปางสมาธิ ปางประทานพร นิยมนั่งขัดสมาธิเพชร อันเป็นประเพณีของศิลปะอินเดียภาคกลางและภาคเหนือ มักประทับนั่งบนฐานบัว 3) แบบประทับนั่งห้อยพระบาท พบมากสุดที่ถ้ำอชันตา เอารังคาพาท กันเหรี และเอลโลรา พระพุทธรูปแบบนี้มีลักษณะพิเศษเป็นของตนเอง คือ ปางปฐมเทศนา ท่าของพระชงฆ์ พระชานุแยกออกจากกันและข้อพระบาทเข้ามาชิดกัน ผ้าจีวรมักเลิกขึ้นไปเหนือพระชงฆ์และพระโสณีด้านซ้าย ด้วยเหตุนี้ผ้าจีวรจึงคลุมเฉพาะพระชงฆ์ขวา และต่อจากนั้นจึงเลิกขึ้นไปจนถึงบั้นพระองค์เบื้องซ้าย และมักประทับนั่งเหนือบัลลังก์และพระบาทวางอยู่เหนือฐานบัว.
ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล