ลพบุรี

Taxonomy

Code

Scope note(s)

Source note(s)

Display note(s)

Hierarchical terms

ลพบุรี

Equivalent terms

ลพบุรี

Associated terms

ลพบุรี

2 Archival description results for ลพบุรี

Only results directly related

ใบเสมาสลักเล่าเรื่องสมัยลพบุรีในพิพิธภัณฑสถานฯ

ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ห้องลพบุรี มีใบเสมาศิลาสมัยลพบุรี ซึ่งมีภาพสลักประกอบอยู่ 3 แผ่น
ใบแรกสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน สลักด้วยศิลาทรายสีชมพู สูง 119 ซม. กว้าง 65 ซม. และหนา 46 ซม. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2475 ด้านหน้าสลักเป็นพระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ มีนาค 7 เศียรอยู่ดหนือพระเศียรของพุทธรูป และมีขนาดนาค 3 ชั้น อยู่เบื้องล่าง ด้านข้างขวาของพระพุทธรูปสลักเป็นรูปบุรุษและสตรียืนอยู่ภายในวงโค้งซึ่งสลักเป็นช่องลึกเข้าไปในเนื้อศิลา ด้านหลังคือด้านตรงข้ามกับพระพุทธรูปนาคปรก สลักเป็นรูปบุรุษ 8 กร ยืนอยู่ภายในซุ้ม ซึ่งด้านบนสลักเป็นขอบซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นบนมีส่วนกลางแหลม ยืนเหนือฐานบัวคว่ำบัวหงายซึ่งมีเกสรบัวประกอบ มีพระพุทธรูป 2 องค์ ปางสมาธิขนาดเล็กอยู่ภายในซุ้มเบื้องบนของศีรษะ ด้านข้างซ้ายของพระพุทธรูปสลักรูปบุรุษและสตรียืนซ้อนกันอยู่ภายในซุ้ม วงส่วนยอดประกอบด้วยวงโค้ง 3 วง ดังในภาพสลักด้านข้างด้านขวา รูปบุรุษด้านบนคงเป็นรูปพระโพธิสัตว์วัชรปาณีอย่างแน่นอน
ใบเสมาสลักภาพอีก 2 แผ่น มาจากศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรี สลักขึ้นในสมัยลพบุรี โดยใช้หินปูนสีเทาซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยทวารวดี
ใบเสมาแผ่นที่ 2 สูง 96.5 ซม. กว้าง 46 ซม. ความหนารวมฐานด้านหน้า 44.5 ซม. สลักเป็นรูปพระพรหมกำลังยืนอยู่ภายในซุ้ม ซุ้มมีลักษณะคล้ายกับซุ้มเหนือพระพุทธรูปนาคปรกในใบเสมาแผ่นที่ 1 แต่มีลวดลายประดับมากยิ่งขึ้น คือภายในแบ่งเป็นแนว 3 แนวแทนที่จะเป็นพื้นเรียบดังแต่ก่อน ใบระกาเหนือซุ้มเพิ่มขึ้นเป็น 13 ใบ แทนที่จะเป็น 11 ใบ และทุกใบประกอบด้วยขอบเป็นเส้นคู่แทนที่จะมีแต่เพียงบนใบกลางเพียงใบเดียว ลายที่มุมเหนือบัวหัวเสาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คงกลายมาจากเศียรนาคที่หันหัวออกคายพวงอุบะ ภายในมีพระพรหมกำลังยืนอยู่ แลเห็นพักตร์เพียง 2 พักตร์
ใบเสมาแผ่นที่ 3 มีลักษณะคล้ายกับใบเสมาสลักรูปพระพรหมมาก สูง 103 ซม. กว้าง 42 ซม. และหนา 30 ซม. สลักเป็นรูปเทพธิดา 2 องค์ ยืนอยู่ภายในซุ้ม ลักษณะซุ้มเหมือนกับซุ้มเหนือพระพรหม แต่ใบระกาจำนวนลงเหลือเพียง 11 ใบ ไม่มีขอบเป็นเส้นคู่ แต่มีเส้นนูนอยู่ตรงกลางทุกใบ ลวดลายที่ขอบซุ้มเหนือหัวบัวเสาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กลายมาจากลายเศียรนาคหันหัวออกคายพวงอุบะ เทพธิดา 2 องค์นี้แสดงให้เห็นว่าสลักขึ้นตรงกับศิลปขอมสมัยบาปวนตอนปลาย (ราว พ.ส. 1600-1650) คือมีเกศาเป็นเกศาถักรวบเป็นมวยมีรูปร่างค่อนข้างกลมอยู่เหนือเศียร และมีลูกประคำอยู่ที่เชิงมวย มีไรพระศกและพระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

วิวัฒนาการของประติมากรรมสมัยทวารวดี

ศิลปะทวารวดีภายในประเทศไทยเจริญขึ้นระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 ทางภาคกลางของประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครปฐม คูบัว อ่างทอง และลพบุรี และได้แผ่ขึ้นไปทางเหนือยังอาณาจักรหริภุญชัย (ลำพูน) จนกระทั่งถึงราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ประติมากรรมสมัยทวารวดีส่วนใหญ่สร้างขึ้นในพุทธศาสนา ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและหลังคุปตะ แต่ก็ยังคงแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะอินเดียสมัยอมราวดีซึ่งเข้ามาถึงก่อนหน้านั้น ตัวอย่างของศิลปะทวารวดีสมัยต้น ได้แก่ 1) พระพุทธรูปยืนศิลาขนาดเล็ก ครองจีวรตามแบบอมราวดีแต่จีวรไม่มีริ้ว แสดงปางประทานอภัยหรือวิตรรกะ 2) พระพุทธรูปนาคปรกศิลา ค้นพบที่เมืองฝ้าย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ 3) พระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ค้นพบในถ้ำเขาพระ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 4) ประติมากรรมดินเผา ค้นพบที่เมืองคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี 5) ประติมากรรมดินเผาค้นพบที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 6) เทวรูปพระคเณศศิลา ค้นพบที่เมืองพระรถ ดงศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ตัวอย่างศิลปะทวารวดีสมัยที่สอง ได้แก่ 1) พระพุทธรูปยืนศิลาองค์ใหญ่ พบที่ดงศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี 2) พระพุทธรูปยืนสัมฤทธิ์ สูง 1.20 เมตร ค้นพบที่เมืองฝ้าย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมกับประติมากรรมรูปพระศรีอาริยเมตไตรย 2 องค์ สูง 47 เซนติเมตร และสูง 1.37 เมตร ศิลปะทวารวดีสมัยที่สาม อิทธิพลศิลปะขอมสมัยบาปวนเริ่มเข้ามาปะปน ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ พระพุทธรูปปางสมาธิศิลา ค้นพบ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล