ไทย

Taxonomy

Code

Scope note(s)

Source note(s)

Display note(s)

Hierarchical terms

ไทย

Equivalent terms

ไทย

Associated terms

ไทย

70 Archival description results for ไทย

70 results directly related Exclude narrower terms

พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในศิลปลพบุรี

ภาพสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในศิลปะลพบุรีในประเทศไทย 4 ภาพ ภาพที่ 1 ศิลาทับหลัง ประตูวิหารหลังข้างเหนือที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เป็นรูปพระนารายณ์บรรทมอยู่เหนือหลังพญาอนันตนาคราช พระองค์ค่อนข้างตั้งตรงขึ้น มีดอกบัวก้านเดียวผุดออกมาจากพระนาภี และมีพระพรหมผู้สร้างโลกประทับอยู่ข้างบน สลักขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1550-1600 หรือ พ.ศ. 1600-1650 ภาพที่ 2 ทับหลังศิลา เดิมอยู่ในเทวสถานพระนารายณ์ เมืองนครราชสีมา เป็นรูปพระนารายณ์ 4 กร บรรทมสินธุ์ตะแคงขวา ก้านบัวก้านเดียวผุดออกมาจากพระนาภี และมีพระพรหมผู้สร้างโลกประทับอยู่ข้างบน สลักขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1550-1600 หรือ 1600-1650 ภาพที่ 3 ศิลาทับหลังประตูมุขโถง ด้านตะวันออกตอนนอกที่ปราสาทหินพนมรุ้ง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เป็นรูปพระนารายณ์ 4 กร บรรทมตะแคงขวาอยู่เหนือหลังมังกร และมีพญานาคหลายเศียรแทรกอยู่ตรงกลาง มีก้านบัวหลายก้านผุดขึ้นจากหลังพระขนงพระนารายณ์ พระพรหมประทับอยู่เหนือบัวบานก้านกลาง คาดว่าสลักขึ้นหลังสมัยปราสาทนครวัดระหว่าง พ.ศ. 1675-1700 ภาพที่ 4 ทับหลัง ณ ปรางค์กู่สวนแตง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เป็นภาพพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวาอยู่เหนือหลังมังกร พญานาคที่แทรกอยู่ตรงกลางหายไป ก้านบัวแบ่งออกเป็นหลายก้านและมีพระพรหมประทับอยู่บนก้านกลาง สลักขึ้นในสมัยหลัง ระหว่าง พ.ศ. 1700-1750.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

แผ่นเงินสมัยทวาราวดีซึ่งขุดพบที่อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

แผ่นเงิน 66 แผ่น ค้นพบที่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ในซากพระอุโบสถ (?) ซึ่งเรียกกันว่า อุ่มญาคู ในเมืองคันธารวิสัย ต.คันธาร์ เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 7 ได้ขุดค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2515 เมืองคันธารวิสัย มีแผนผังเป็นรูปไข่ มีคูเมืองล้อมรอบอยู่ระหว่างเชิงเทิน 2 ชั้น สิ่งสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งที่ค้นพบในการขุดแต่งซากพระอุโบสถคือ พระพิมพ์ดินเผา ขนาด 14 x 22.5 ซม. เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-15 แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ ภาชนะดินเผาสูง 12.5 ซม. ปากกว้าง 20 ซม. มีแผ่นเงินบุเป็นรูปต่าง ๆ 66 แผ่น อยู่ภายใน ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดต่าง ๆ กัน ระหว่าง ขนาด 10 x 15 ซม. เป็นแผ่นเงินที่ถูกบุเป็นพระพุทธรูป รูปเทวดาหรือเจ้านาย รูปสถูปและธรรมจักรตั้งอยู่บนยอดเสา ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง อาจสรุปว่าสร้างขึ้นในศิลปะทวารวดี โดยบุขึ้นในตอนปลายของศิลปะทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 แสดงถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในขณะนั้น.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

ประวัติพระพุทธรูปสัมฤทธิ์นาคปรก ปางมารวิชัย สมัยศรีวิชัย

พระพุทธรูปนาคปรก สำริด ปางมารวิชัย สมัยศรีวิชัย จากวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพระพุทธรูปนาคปรกที่งามที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากในสมัยศรีวิชัยนั้น พุทธศาสนาลัทธิมหายานกำลังแพร่หลายอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย และการสร้างเป็นปางมารวิชัยแทนปางทรงแสดงสมาธิก็ไม่น่าจะผิดอะไร คงเพื่อแสดงถึงความหมายของบรรดาสัปดาห์ต่างๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญสมาธิภายหลังการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จากความสำคัญของพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวจึงมีการสร้างพระบูชา พระกริ่ง เหรียญ หรือพระผง พระพุทธรูปขึ้นถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพครบ 3 รอบ และทรงมีพระประสูติกาลในวันเสาร์ รวมทั้งเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เพื่อเป็นการสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในการนำไปช่วยเหลือการศึกษาแก่เยาวชนในประเทศไทย

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

มีการค้นพบประติมากรรมสำริดจำนวนหนึ่ง ที่ปราสาทแห่งหนึ่งในอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ และถูกนำลักลอบออกนอกประเทศเกือบหมด คงมีเหลืออยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์ของเอกชนเพียง 2-3 รูปเท่านั้น นายอัลแบรต์ เลอบอนเนอ (Albert Le Bonheur) กล่าวถึงรูปพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย สำริด สูง 46 เซนติเมตร ซึ่งพิพิธภัณฑ์กีเมต์ได้ซื้อไว้ โดยกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประติมากรรมสำริดซึ่งค้นพบที่อำเภอประโคนชัยเหล่านี้ กับอาณาจักรศรีจานาศะ และค้านความคิดเห็นของ ศาสตราจารย์บวสเซอลีเย่ เกี่ยวกับอิทธิพลของศิลปศรีวิชัยสำหรับลักษณะรูปภาพ (iconography) ของประติมากรรมสำริดที่ค้นพบที่อำเภอประโคนชัย นายเลอบอนเนอได้นำไปเปรียบเทียบกับภาพสลักที่ถ้ำเขาถมอรัตน์ ใกล้กับเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ สำหรับการกำหนดอายุเห็นว่ายังไม่อาจกระทำได้อย่างแน่นอน ส่วนนางสาวเอมมา ซี บังเกอร์ (Emma C. Bunker) ได้รวบรวมรูปภาพเกี่ยวกับประติมากรรมสำริดที่ค้นพบที่อำเภอประโคนชัย และให้รูปปราสาทอิฐที่ค้นพบประติมากรรมสำริดเหล่านี้ไว้ด้วย แต่ไม่ได้บอกชื่อปราสาท พร้อมทั้งรูปประติมากรรมสำริดที่ค้นพบอีก 24 รูป ซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา และร้านค้าของเก่า.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

ประติมากรรม 4 รูป ซึ่งเพิ่งค้นพบใหม่ภายในประเทศไทย

ได้ค้นพบประติมากรรมที่สำคัญ 4 รูป ภายในประเทศไทย 1) เทวรูปพระคเณศศิลา สูง 1.70 เมตร พบ ณ เทวาลัยเมืองพระรถ ดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี กำหนดอายุไว้ว่าอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-12 เทียบได้กับเทวรูปพระคเณศจาก Tuol Phak Kin อีก 3 องค์ พบที่เมืองฝ้าย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ 2) พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย สูง 47 เซนติเมตร อาจหล่อขึ้นในศิลปะขอมสมัยไพรกเมง อายุราว พ.ศ.1200-1250 3) พระโพธิสัตว์อีกองค์อาจเป็นพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยเนื่องจากสัญลักษณ์บนมวยผมหลุดหายไป สูง 1.37 เมตร คงหล่อขึ้นหลังกว่ารูปแรก ระหว่าง พ.ศ.1250-1350 4) พระพุทธรูปสำริด สูง 1.20 เมตร ในศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 13.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

โบราณวัตถุสถานสมัยประวัติศาสตร์ในประเทศไทยและการอนุรักษ์

โบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยแบ่งกว้าง ๆ เป็น 2 สมัย คือ สมัยก่อนที่ชนชาติไทยจะเข้าปกครองประเทศ และสมัยที่ชนชาติไทยเข้าปกครองประเทศแล้ว สำหรับสมัยแรกแบ่งเป็นศิลปะ 5 แบบย่อย ๆ ได้แก่ 1) โบราณวัตถุรุ่นต้นที่ค้นพบในประเทศไทย (ราวพุทธศตวรรษที่ 6-11) เช่น ตะเกียงโรมันสำริด ซึ่งค้นพบที่ ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี 2) ศิลปะทวาราวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16) เช่น ศิลาจารึกภาษามอญรุ่นเก่าราวพุทธศตวรรษที่ 12 ค้นพบในเขตจังหวัดนครปฐม และลพบุรี 3) เทวรูปรุ่นเก่าในประเทศไทย (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14) เช่น ศิวลึงค์ และเทวรูปพระนารายณ์ ค้นพบทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทย 4) ศิลปะศรีวิชัย (ราวพุทธศตวรรษที่ 13-18) เช่น เศษเครื่องถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์ถัง ค้นพบทั้งทางฝั่งทะเลตะวันออกและตะวันตกของประเทศไทย 5) ศิลปะลพบุรี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-19) พบที่ภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่วนศิลปะในประเทศไทยเมื่อชนชาติไทยเข้าปกครองแล้ว แบ่งได้เป็น 5 แบบ คือ 6) ศิลปะเชียงแสนหรือล้านนา (ราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือ 18 ถึง พุทธศตวรรษที่ 23) เจริญขึ้นมาทางภาคเหนือของประเทศไทย 7) ศิลปะสุโขทัย (ราวพุทธศตวรรษที่ 19-20) ถือกันว่าเป็นศิลปะที่งามที่สุดของไทย เช่น พระพุทธรูปสุโขทัย เครื่องสังคโลก 8) ศิลปะอู่ทอง (ราวพุทธศตวรรษที่ 17-20) เช่น พระพุทธรูป พระปรางค์องค์ใหญ่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี 9) ศิลปะอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 20-23) เช่น จิตรกรรมฝาผนัง เครื่องอาภรณ์ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เครื่องลายรดน้ำ 10) ศิลปะรัตนโกสินทร์ (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 24 จนถึงปัจจุบัน) มีการเลียนแบบศิลปะจีน และศิลปะตะวันตกเป็นศิลปะแบบผสม (eclectic).

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

โบราณวัตถุที่ถูกลักลอบออกนอกประเทศไทย

วัตถุที่ถูกลักลอบออกนอกประเทศไทยจากที่พบในหนังสือเรื่อง The Ideal Image, the Gupta Sculptural Tradition and Its Influence แต่งโดย Pratapaditya Pal มีทั้งหมด 11 ชิ้น ดังนี้ 1) พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางทรงแสดงธรรม สูงประมาณ 5 เซนติเมตร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-11 2) รูปเทพธิดาศิลาทราย 4 กร สูงประมาณ 15 เซนติเมตร 3) พระพุทธรูปศิลาทราย สูง 1.10 เมตร สมัยทวาราวดี 4) พระพิมพ์ดินเผารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง 12 เซนติเมตร 5) รูปพระอิศวรศิลาสูงประมาณ 70 เซนติเมตร มาจากเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 6) แผ่นทองดุนนูนเป็นรูปพระอิศวร สูง 17 เซนติเมตร อาจมาจากเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 7) แผ่นเงินดุนนูนเป็นรูปพระพุทธองค์ สูง 14 เซนติเมตร อาจค้นพบจาก อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 8) พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ยืนสูง 51 เซนติเมตร ศิลปทวาราวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 9) พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ สูง 22 เซนติเมตร คาดว่าค้นพบทางภาคใต้ของประเทศไทย 11) พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยสัมฤทธิ์ สูง 1.20 เมตร เป็นประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดและงามที่สุดองค์หนึ่งในบรรดาประติมากรรมซึ่งค้นพบที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

โบราณวัตถุที่ถูกลักลอบจากเมืองศรีเทพ

เมืองศรีเทพ บางท่านเรียกว่า เมืองอภัยสาลี เดิมตั้งอยู่ในอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาตั้งอยู่ในอำเภอศรีเทพแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงค้นพบเมืองนี้เมื่อ พ.ศ. 2448 ประติมากรรมศิลาที่ค้นพบส่วนใหญ่เป็นเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ต่อมาพบศิลาจารึกอีก 2 หลัก แสดงว่าอาณาจักรเจนละหรือขอมรุ่นแรกในขณะนั้นได้แผ่อำนาจเข้ามาถึงยังลุ่มแม่น้ำป่าสักแล้ว โบราณวัตถุซึ่งถูกลักลอบออกไปจากเมืองศรีเทพ 3 ชิ้น และปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน (Norton Simon Museum of Art) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ 1) เทวรูปศิลาทราย สูงประมาณ 1.14 เมตร คาดว่าเป็นพระอาทิตย์และเป็นชิ้นที่สำคัญที่สุด 2) แผ่นทอง สูงประมาณ 30 ซม. ดุนเป็นเทวรูปพระนารายณ์ 3) พระพุทธรูปสมัยทวาราวดี สลักด้วยศิลาทรายสีเทา สูงประมาณ 2.18 เมตร.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

โบราณวัตถุที่ค้นพบจากพระปรางค์วัดราชบูรณะ รุ่นที่ ๒

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2501 ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรกำลังดำเนินงานสร้างอุโมงค์และทำบันไดเพื่อให้ลงไปชมภาพเขียนผนังภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้พบกรุพระพุทธรูปและพระพิมพ์บรรจุอยู่ภายในองค์พระปรางค์ โดยพยายามทำงานขุดค้นและควบคุมดูแลรักษานำของขึ้นจากกรุ ซึ่งวัตถุที่ค้นพบแบ่งออกได้หลายชนิดด้วยกัน คือ

  1. พระพุทธรูป รูปพระโพธิสัตว์ เทวดา และพุทธสาวก แบ่งออกได้เป็น
    ก. พระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์ต่างประเทศ ที่สำคัญคือ พระพุทธรูป 8 ปาง แบบปาละ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย แบบปาละ แบบอินเดียภาคใต้รุ่นหลัง พระพุทธรูปแบบลังการุ่นหลัง แบบชวา แบบพม่า แบะพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์แบบเนปาลหรือธิเบต
    ข. พระพุทธรูปในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น
    (1) พระพุทธรูปแบบทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 11-16 บางองค์อาจทำในชั้นหลังและทำตามแบบทวารวดี
    (2) พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์แบบศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ 13-18
    (3) พระพุทธรูป รูปพระโพธิสัตว์ และเทวดา ในศิลปะแบบลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-19
    (4) พระพุทธรูปแบบสุโขทัย สกุลช่างวัดตระกวน 6 องค์ เป็นสกุลช่างที่คลายไปจากศิลปะแบบสุโขทัยไปมาก และยากที่จะกำหนดอายุเวลาได้ และไม่พบพระพุทธรูปแบบสุโขทัยแท้ ๆ
    (5) พระพุทธรูปแบบอู่ทอง แบ่งออกได้เป็น 3 ยุค คือ ยุคที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ยุคที่ 2 ราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 ยุคที่ 3 ราวพุทธศตวรรษที่ 19-20
    (6) พระพุทธรูปและรูปพระสาวกแบบอยุธยา
  2. พระพิมพ์
    1. แบบต่างประเทศ คือ แบบปาละของอินเดีย
    2. แบบทวารวดี อาจเป็นแบบทวารวดี หรือทำเลียนแบบทวารวดีขึ้นในสมัยอยุธยา และแบบทวารวดีแต่มีศิลปะแบบลพบุรีเข้ามาปนบ้าง
    3. แบบลพบุรี เป็นพระพิมพ์ในแบบมหายาน
    4. แบบอยุธยา แบ่งได้ 2 แบบ คือ
      (1) เลียนแบบสุโขทัย ส่วนมากมักทำเป็นพระลีลา หรือบางทีเป็นปางยมกปาฏิหารย์
      (2) แบบอยุธยาแท้ ทำเป็นรูปพระพุทธองค์ ปางมารวิชัย ปางประทานอภัย ปางสมาธิ หรือปางประทานเทศนา
      นอกจากพระพิมพ์ที่เป็นพระพุทธรูปแล้ว ยังมีรูปสาวกโดด ๆ เช่น พระสังกัจจายน์ และรูปท้าวเวสสุวรรณ เป็นต้น
  3. วัตถุอื่น ๆ เช่น แผ่นโลหะเขียนเป็นรูปพระพุทธองค์ปางมารวิชัยประทับนั่งบนดอกบัว เครื่องเชียนหมากทำด้วยโลหะ แก้วประเภทนพรัตน์และคันฉ่องโลหะฝีมือช่างจีน

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

โบราณวัตถุซึ่งขุดค้นพบที่เทวสถาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้พานักศึกษาไปฝึกหัดขุดค้นและขุดแต่งซากโบราณสถานที่เทวสถาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน - 9 พฤศจิกายน 2512 จากผลการขุดแต่งแล้วนั้นปรากฏว่า มีระยะการก่อสร้าง 3 ครั้งหรือ 3 สมัยด้วยกัน
ครั้งแรกคงสร้างแต่องค์เทวสถานเพียงอย่างเดียว รูปเป็นปรางค์แน่เพราะฐานเดิมปรากฏอยู่เป็นรูปฐานย่อไม้ 20 และย่อเก็จทำเป็นซุ้มมุขทิศ 4 ด้าน ตามที่ปรากฏร่องรอยอยู่นั้นองค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐใช้ดินดิบเป็นสื่อเชื่อมแทนปูนสอ ผิวนอกองค์ปรางค์ถือปูน
ระยะที่ 2 ก่อสร้างวิหารต่อด้านหน้าเทวสถานเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งมีข้อสังเกตและหลักฐานอยู่ 2 อย่างคือ ลักษณะปูนถือและส่วนผสมปูนถือผนังวิหารต่างชนิดและต่างอายุกันกับปูนถือเทวสถานองค์ปรางค์ และตรงวที่วิหารกับเทวสถานปรางค์มาต่อเชื่อมกัน อิฐแยกออกจากกันอย่างมีระเบียบโดยมีแนวบัวที่ทำสำเร็จฝังอยู่ในผนังวิหารส่วนที่เชื่อมต่อกัน
ระยะที่ 3 ก่อสร้างระเบียงแบบเป็นห้องด้านหน้าและด้านข้างวิหารทั้งสองข้างดังที่ปรากฏแนวผนังเหลืออยู่นั้น ระเบียงคงใช้เป็นที่พักจำพรรษาหรือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปในระยะหลังก็อาจเป็นได้ ตัวอาคารผนังก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาเช่นเดียวกันกับพระวิหาร.

ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

Results 41 to 50 of 70